สิงหาคม 18, 2023

เล้าผสมจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม

Knowledge ความรู้ทั่วไป

ในช่วงอากาศร้อนของบ้านเรานั้นนอกจากจะส่งผลให้สุกรขุนกินอาหารได้น้อยลงและเจริญเติบโตช้าแล้ว  ในส่วนของสุกรพันธุ์อากาศร้อนยังทำให้คุณภาพน้ำเชื้อด้อยลง  แม่สุกรเกิดความเครียดเนื่องจากอากาศร้อน  ผสมไม่ติด  กลับสัดได้ง่าย และทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของแม่พันธุ์ด้อยลงร่วมด้วย

เล้าผสมเป็นจุดร่วมของการผลิตสุกรพันธุ์   โดยเป็นจุดที่มีการทำงานร่วมกันระหว่าง พ่อพันธุ์  แม่พันธุ์ และคน   ในยุคหลังจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) สงบลง     การใช้พ่อพันธุ์เช็คสัดอาจถูกลดบทบาทลงไปบ้าง   แต่ก็ยังมีหลายๆ ฟาร์มที่ยังมีการใช้พ่อพันธุ์ในการเช็คสัดอย่างสม่ำเสมอซึ่งส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการผลิต

การควบคุมและติดตามการทำงานในเล้าผสมอย่างสม่ำเสมอและแก้ไขข้อบกพร่องอย่างรวดเร็วจะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของฟาร์มอยู่ในภาวะที่สามารถแข่งขันได้เสมอ    อย่างที่กล่าวไปในตอนต้น เล้าผสมจะมีส่วนประกอบหลักๆ  3 ส่วนด้วยกัน คือ   พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และคน   ซึ่งเราจะมาลงรายละเอียดถึงจุดต่างๆ ที่เราต้องมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอ

เริ่มต้นกับส่วนแรก คือ  พ่อพันธุ์   แม้ว่าจะเป็นส่วนที่น้อยที่สุด  แต่ก็มีความสำคัญในการกำหนดการผสมติดจาก  2 ปัจจัยใหญ่ คือ   คุณภาพน้ำเชื้อและการจับสัด  พ่อพันธุ์ที่ใช้ผลิตน้ำเชื้อส่วนใหญ่จะมีการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี และมีการตรวจสอบคุณภาพของน้ำเชื้อก่อนทำการเจือจางเพิ่มปริมาณด้วยสารละลายน้ำเชื้อ   อย่างไรก็ตามแนะนำให้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำเชื้อเชิงคุณภาพทางห้องปฏิบัติการ  โดยการตรวจหาตัวเป็น  ตัวตาย และตัวผิดปรกติ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง  เพื่อทำให้มั่นใจได้ถึงคุณภาพของน้ำเชื้ออย่างเต็มที่    นอกจากนี้การดูแลรักษาสภาพของน้ำเชื้อหลังการเจือจาง และการเตรียมน้ำเชื้อก่อนการผสมก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย   ตู้เย็นที่ใช้เก็บน้ำเชื้อต้องมีการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม  การกลับหลอดน้ำเชื้อต้องมีการดำเนินการและมีการจดบันทึกเพื่อให้น้ำเชื้อคงคุณภาพที่ดีไว้

พ่อพันธุ์เช็คสัด เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งในการทำให้แม่พันธุ์ผสมติดได้ดี   เนื่องจากพ่อสุกรสามารถตรวจหาแม่พันธุ์ที่เป็นสัดได้เร็วกว่าคนมาก  ทำให้การผสมเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมส่งผลให้แม่พันธุ์มีอัตราการผสมติดสูง   ในปัจจุบันทางวิชาการยังคงแนะนำให้ใช้พ่อสุกรที่มีความกำหนัดสูง  เคี้ยวน้ำลายเก่งสำหรับเช็คสัด และควรมีพ่อสุกรหมุนเวียนเพื่อเช็คสัด   เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเช็คสัด ส่วนที่สอง คือ แม่พันธุ์  แม่พันธุ์กลุ่มใหญ่ในกลุ่มผสม คือ  แม่สุกรหย่านม ซึ่งแม่สุกรกลุ่มนี้จะต้องให้ความสนใจในเรื่องของคะแนนร่างกาย(body score condition)   หากแม่สุกรผอมหรือมีการสูญเสียน้ำหนักตัวในเล้าคลอดมาก   แม่สุกรกลุ่มนี้อาจไม่แสดงอาการเป็นสัด หรือมีระยะหย่านมถึงเป็นสัดที่ยาวนาน   การดูแลจัดการอาหารในแม่สุกรกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องให้กินอาหารอย่างเต็มที่  ต้องมีการกระตุ้นการกิน   รวมทั้งการดูแลสุขภาพแม่สุกรที่ส่งผลต่อการกินได้ เช่น  ปัญหาขาเจ็บ  การเพิ่มมื้ออาหารอาจทำได้ยาก เพราะจะทำให้เกิดความเครียดแก่สุกรที่อยู่ข้างเคียง   ดังนั้นการให้อาหารในแต่ละมื้อจะต้องพยายามให้แม่สุกรกินได้ให้มากที่สุด และมีอาหารคารางไว้ให้สำหรับแม่สุกรจำนวนหนึ่งเช่นกันพิจารณาให้วิตามินกลุ่มที่ช่วยเรื่องระบบสืบพันธุ์ในแม่สุกร เช่น  วิตามิน AD3E เพื่อบำรุงร่างกายในกรณีแม่โทรม  หากพบการติดเชื้อภายในระบบสืบพันธุ์ในแม่สุกรกลุ่มนี้   ควรพิจารณาข้ามสัดเพื่อรักษา และหากพบว่าไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือกลับสัดมากกว่า 2 รอบควรพิจารณาคัดทิ้ง

สุกรสาวทดแทน  เป็นสุกรอีกกลุ่มหนึ่งที่พบได้ในจุดผสม   สุกรกลุ่มนี้จะต้องให้ความสนใจในการปรนอาหารก่อนการเป็นสัดเพื่อให้เกิดการตกไข่ในปริมาณมาก และแสดงอาการเป็นสัดที่ชัดเจน นอกจากนี้ควรเน้นการตรวจสัดด้วยพ่อสุกรซ้ำ  โดยมีการเปลี่ยนพ่อสุกรเช็คสัดในกลุ่มสุกรสาวที่ไม่แน่ใจ เพื่อให้ไม่พลาดวงรอบของการเป็นสัด

ในปัจจุบันมีการใช้ฮอร์โมนเพื่อการเหนี่ยวนำการเป็นสัดในสุกรพันธุ์อย่างแพร่หลาย  ทั้งนี้ข้อควรพึงระวังในสุกรกลุ่มที่มีการใช้ฮอร์โมน คือ  จะมีการตกไข่ที่ช้ากว่าปรกติ   รูปแบบของการผสม ที่แนะนำเช่น หากครบ 3 วันหลังการหยุดให้ฮอร์โมน ควรเริ่มผสม วันที่ 4, 5, และ 7  แทนการกำหนดระยะเวลาผสมเพียงครั้งเดียว เพื่อให้ได้อัตราการผสมติดที่สูงตามที่ฟาร์มต้องการ

แม่สุกรที่ผสมแล้วเราต้องเน้นให้แม่สุกรอยู่สบาย  ไม่หอบ ไม่ร้อน  มีการจัดการอาหารที่เหมาะสมตามคะแนนร่างกายของแม่สุกร   ไม่ให้แม่สุกรอ้วนหรือผอมจนเกินไป   คะแนนร่างกายอยู่ระหว่าง 2.5-3 รวมทั้งพื้นที่แม่สุกรอยู่ไม่ลื่น  ทำให้แม่สุกรไม่เสี่ยงต่อปัญหาขาเจ็บซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

ส่วนสุดท้าย ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด คือ  คน  การดูแลพ่อสุกร แม่สุกร และควบคุมการผสม  คนเป็นผู้กำกับดูแล  นอกเหนือจากงานประจำวัน เช่น  การให้อาหารและทำความสะอาด   หากพบแม่สุกรไม่กินอาหาร  ต้องมีตรวจสอบสาเหตุทันที  เนื่องจากตามปรกติเราให้อาหารแม่สุกรอุ้มท้อง 1-2 มื้อต่อวัน ซึ่งแม่สุกรควรจะกินอาหารได้หมดหากไม่มีปัญหาสุขภาพ

อาหารที่แม่สุกรได้รับส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิต   การให้อาหารนอกจากจะดูว่าแม่สุกรกินหรือไม่กินแล้ว   การตรวจสอบถึงปริมาณที่แม่สุกรได้รับก็เป็นเรื่องที่ควรทำ  การชั่งน้ำหนักอาหารแม่สุกรก่อนการให้อาหาร  นอกจากจะทำให้แน่ใจถึงปริมาณที่ให้แล้ว   ยังช่วยประหยัดอาหารที่อาจจะสูญเสีย และลดต้นทุนไปในตัวอีกด้วย   การให้อาหารสุกรพันธุ์ต้องให้ตามคะแนนร่างกาย   การให้คะแนนร่างกายต้องมีการดำเนินการทุกสัปดาห์ และต้องไล่ให้สุกรลุกขึ้นเพื่อให้คะแนน   จะไม่ให้คะแนนสุกรในท่านอนเพราะอาจจะทำให้ผิดพลาดได้

คนนอกจากจะทำหน้าที่ดูแลสุกรแล้วยังมีบทบาทมากในการผสมตั้งแต่ การจับสัด การเตรียมน้ำเชื้อพ่อสุกร และการผสม ต่อเนื่องไปถึงการจับสัดหลังผสมและการตรวจท้องอีกด้วย การผสมเทียมสุกรควรดำเนินการเมื่อแม่สุกรหรือสุกรสาวทดแทนเป็นสัดยืนนิ่งเท่านั้น การตัดสินใจที่จะผสมจะขึ้นกับคนผสมเป็นหลัก ทั้งนี้หากมีคนทำงานหลายคน ต้องมีการกำหนดแนวทางการทำงานดังกล่าวให้ชัดเจน ทั้งนี้การตรวจสอบการไหลย้อนกลับของน้ำเชื้อ ต้องมีการดำเนินการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจถึงคุณภาพการผสมอีกระดับหนึ่ง การพบน้ำเชื้อไหลย้อนกลับขณะเดินน้ำเชื้อสามารถเกิดได้จากการจับสัดที่ไม่ดี การล๊อคระหว่างปลายเดือยของอุปกรณ์ที่ใช้ผสมเทียมกับคอมดลูกไม่ดี หรือการเดินน้ำเชื้อเร็วเกินไป ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจุดสังเกตที่ชัดเจน ซึ่งต้องดำเนินการแก้ไขโดยทันทีที่พบ หากแต่ว่าการไหลของน้ำเชื้อย้อนกลับเกิดขึ้นหลังจากนั้น และมักพบว่าเป็นสาเหตุสำคัญของขนาดครอกที่เล็กและฟาร์มเองอาจจะไม่ได้มีการตรวจสอบ จึงควรได้มีการตรวจสอบและจดบันทึกอีกครั้งเพื่อให้มั่นใจได้ถึงคุณภาพการผสม

การตรวจการกลับสัดหลังผสมและการตรวจท้องเป็นจุดที่ช่วยลดวันกินเปล่าของแม่สุกรอย่างชัดเจน ฟาร์มขนาดใหญ่การมีโปรแกรมการตรวจท้องด้วยเครื่อง Ultrasound เป็นเรื่องที่ควรลงทุน เพราะช่วยลดวันกินเปล่าได้มากและยังให้เราสามารถจัดการฝูงสุกรแม่พันธุ์ได้อย่างเหมาะสม

เล้าผสมเป็นส่วนของการผลิตที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของลูกสุกรหย่านม การเฝ้าระวังและการจัดการในเล้าผสมจึงเป็นตัวบ่งชี้ที่ถึงจำนวนลูกสุกรหย่านมที่จะได้รับในอีก 5 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะต้องมีความต่อเนื่องไปยังส่วนของอนุบาลและขุน ด้วยเหตุผลนี้เราจึงต้องมีการจัดการที่ดีในเล้าผสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของฟาร์มที่ดีและต้นทุนการผลิตสุกรที่ต่ำลง