สิงหาคม 31, 2023

วิธีตรวจสอบการได้รับวัคซีนเบื้องต้นในไก่

Knowledge ความรู้ทั่วไป

การป้องกันการระบาดของโรคภายในฟาร์มไก่ นอกจากมีแผนการป้องกันโรคตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้ว การให้วัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มความต้านทานต่อโรคของไก่เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในกรณีที่เชื้อก่อโรคสามารถผ่านเข้ามาในฟาร์มจนเข้าไปถึงตัวไก่ได้ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น สุขภาพของไก่   สภาพแวดล้อมในช่วงที่ให้วัคซีน คุณภาพวัคซีน การขนส่งวัคซีน การเก็บรักษาวัคซีน  และเทคนิคการให้วัคซีนของบุคลากร

การตรวจสอบการได้รับวัคซีนมีความสำคัญ เนื่องจากช่วยลดปัญหาการให้วัคซีนล้มเหลวและใช้วิเคราะห์ประสิทธิภาพการให้วัคซีนร่วมกับการติดตามระดับภูมิคุ้มกันหลังให้วัคซีน โดยบทความนี้จะกล่าวถึงวิธีตรวจสอบการได้รับวัคซีนสำหรับวิธีให้วัคซีนที่ใช้บ่อยและสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้เองที่ฟาร์ม ได้แก่ การให้วัคซีนโดยวิธีหยอดตา หยอดจมูก หยอดปาก  ละลายน้ำ  ฉีดเข้าใต้หนังคอ ฉีดเข้ากล้ามเนื้ออก และแทงปีก

การตรวจสอบการได้รับวัคซีนโดยวิธีหยอดตา หยอดจมูก หยอดปากและละลายน้ำ 

การให้วัคซีนโดยวิธีหยอดตา หยอดจมูก หยอดปากและละลายน้ำ ตรวจสอบโดยสังเกตดูจากลิ้นของไก่ว่ามีการติดสีของน้ำยาทำละลายวัคซีนหรือสารปรับสภาพน้ำที่ใช้ผสมวัคซีน สุ่มไก่ 1%หรืออย่างน้อย 100 ตัวต่อฝูง ต้องพบลิ้นไก่ติดสีไม่ต่ำกว่า 95%ของไก่ที่สุ่มตรวจ ควรสุ่มตรวจภายใน 30นาทีหลังให้วัคซีน

การตรวจสอบการได้วัคซีนโดยวิธีการฉีดเข้าใต้ชั้นผิวหนังบริเวณกลางหลังคอ

การฉีดวัคซีนเข้าใต้ชั้นผิวหนังบริเวณกลางหลังคอของไก่ ตรวจสอบโดยการเปิดดูหลังคอไก่ที่ตายหรือคัดทิ้ง โดยบริเวณที่ฉีดควรพบวัคซีนอยู่ในใต้ชั้นผิวหนัง และไม่ควรพบลักษณะเลือดออกหรือวัคซีนเข้าไปอยู่ในชั้นกล้ามเนื้อบริเวณคอ  ขนบริเวณคอที่ฉีดเปียกวัคซีน หรือมีเลือดออก

การตรวจสอบการได้รับวัคซีนโดยวิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้ออก

การฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้ออก ตรวจสอบหลังฉีดไม่ควรพบขนอกบริเวณที่ฉีดเปียกวัคซีน และเปิดดูระหว่างชั้นกล้ามเนื้ออกของไก่ตายหรือคัดทิ้ง ควรพบวัคซีนอยู่ในชั้นกล้ามเนื้ออกจุดที่ฉีดวัคซีน ไม่ควรพบวัคซีนอยู่ในชั้นใต้ผิวหนังบริเวณอกหรือช่องว่างในลำตัวของไก่

การตรวจสอบการได้วัคซีนโดยวิธีการแทงปีก

การแทงปีกเป็นการให้วัคซีนโดยใช้เข็มสำหรับแทงปีก แทงผ่านผิวหนังบริเวณปีก สุ่มตรวจไก่ 1%หรืออย่างน้อย 100 ตัวต่อฝูงหลังให้วัคซีน 7-10วัน ควรตรวจพบการบวมเป็นตุ่มนูนขนาด 0.5-1 ซม.บริเวณที่ให้วัคซีนไม่ต่ำกว่า 95%ของไก่ที่สุ่มตรวจ

การตรวจสอบดังที่กล่าวไปข้างต้นเป็นวิธีที่สามารถทำได้เองที่ฟาร์ม แต่อย่างไรก็ตามควรประเมินร่วมกับความถูกต้องของเทคนิคระหว่างการให้วัคซีนของบุคลากร ความคลาดเคลื่อนของจำนวนปริมาณวัคซีนที่คำนวณไว้อย่างถูกต้องเทียบกับจำนวนวัคซีนที่ใช้จริง รวมถึงติดตามการตอบสนองของระดับภูมิคุ้มกันหลังให้วัคซีนว่าเป็นไปตามคำแนะนำจากบริษัทผู้ผลิต เพื่อให้มั่นใจว่าการสร้างภูมิคุ้มกันของไก่หลังให้วัคซีนได้ประสิทธิภาพมีระดับภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมต่อการป้องกันโรค