สิงหาคม 15, 2023

การจัดการลูกสุกรหลังคลอดจนถึงหย่านม

Knowledge ความรู้ทั่วไป

การเลี้ยงและการดูแลลูกสุกร ตั้งแต่หลงคลอดไปจนถึงหย่านม นับได้ว่า เป็นช่วงที่มีความยุ่งยาก มากกว่าช่วงอื่นๆ และเป็นช่วงที่เกิดการสูญเสียมากที่สุด ซึ่งอาจเกิดจากถูกแม่สุกรทับตาย ท้องเสียอย่างแรง อดอาหาร โลหิตจาง และเสียเลือดมากทางสายสะดือเมื่อคลอด อย่างไรก็ตามการสูญเสียลูกสุกรในช่วงนี้ส่วนใหญ่ เนื่องมาจากการจัดการดูแลไม่ดีมากกว่า สาเหตุอื่นๆ ดังนั้น เพื่อลดการสูญเสียลูกสุกรในช่วงนี้ผู้เลี้ยงควร เตรียมการดูแลจัดการ ดังนี้

  1. ทำความสะอาดตัวลูกสุกร

ควรเช็ดตัวลูกสุกรให้แห้งโดยเร็วทันทีที่คลอดออกมา เพื่อไม่ให้หัวของลูกสุกรเปียกชื้น เนื่องจากอุณหภูมิภายนอกและภายในท้องแม่สุกรต่างกันมาก การสูญเสียความร้อนของลูกสุกรจำเป็นต้องดึงพลังงานสะสม (ไกลโคเจน)ที่ตับมาใช้ การเช็ดตัวด้วยผ้าหรือการคลุกด้วยแป้งจะช่วยให้ตัวลูกสุกรแห้งเร็วขึ้น

  1. การให้ความอบอุ่นและป้องกันลมโกรก

ลูกสุกรที่มีอายต่ำกว่า 3 วัน กลไกที่ควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายยังไม่ทำงาน จึงไม่สามารถปรับตัวให้ เข้ากับความผันแปรของอุณหภูมิภายนอกได้ ลูกสุกรแรกเกิดที่ถูกความเย็นมากๆ หรือเป็นเวลานานๆ อุณหภูมิของร่างกายจะลดลงเป็นผลให้ลูกสุกรตัวนั้นตายได้ ดังนั้น ไม่ควรปล่อยให้ลูกสุกรถูกลมโกรก เช่น นอนใน คอกที่โปร่งมาก บริเวณที่ลูกสุกรแรกคลอดนอนควรมีที่กำบังลม จะช่วยให้ลูกสุกรไม่ถูกลมโกรกมาก แต่ไม่ควรปิดทึบมากเกินไปเพราะจะทำให้อากาศถ่ายเทไม่สะดวกเวลาคอกเปียกชื้นจะแห้งยากทำให้เกิดเชื้อโรค และการฝึกให้ลูกสุกรเข้าอยู่ในกล่องจะช่วยลดปัญหาโดนทับตายจากแม่สุกรได้

  1. จับให้ลูกสุกรกินนม น้ำเหลือง

ลูกสุกรที่คลอดออกมาจะต้องได้กินนมน้ำเหลืองโดยเร็วที่สุด เพราะประมาณ 1 วัน หลังคลอดนมน้ำเหลืองจะเปลี่ยนเป็นน้ำนมธรรมดา และในขณะเดียวกันลูกสุกรเองก็ไม่สามารถรับเอาภูมิคุ้มกันโรคจากนมน้ำเหลืองเขาไปในร่างกาย เมื่อมีอายุมากขึ้นนเพราะลำไส้ของลูกสุกรเกิดใหม่เท่านั้นที่ยอมให้ภูมิคุ้มกันโรคผ่านเข้าไปในร่างกายได้ การใช้ฮอร์โมนเหนี่ยวนำการคลอดลูกสุกรเร็วกว่ากำหนดคลอดปกติจะมีผลกระทบต่อคุณภาพนมน้ำเหลือง

  1. การรักษาความสะอาดคอก

คอกที่ใช้เลี้ยงลูกสุกรควรทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ พื้นคอกตลอดจนบริเวณที่ลูกสุกรนอน ควรจะแห้งและสะอาดอยู่เสมอ ถ้าจำเป็นที่จะต้องล้างทำความสะอาดเนื่องจากคอกสกปรกควรขังลูกสุกรเอาไวก่อน อย่าปล่อยออกมาให้ตัวเปียกน้ำ ลูกสุกรอาจจะหนาวสั่นและป่วยได้ เมื่อเห็นว่าคอกแห้งพอสมควรดีแล้วจึงปล่อยลูกสุกร

  1. การตัดสายสะดือ

การมัดสายสะดือเพื่อป้องกันเลือดออกหลังตัด ควรตัดให้เหลือสายสะดือห่างจากท้อง ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร เมื่อลูกสุกรยืนขึ้นสายสะดือจะได้ไม่ติดพื้นคอก จากนั้นเช็ดแผลที่ตัดแล้วด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน สายสะดือเป็นส่วนสำคัญที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ตัวลูกสุกรได้

  1. การตัดฟันและหาง

ควรตัดภายหลังที่ลูกสุกรคลอดได้ 24 ชั่วโมง การตัดฟันและหางนั้นควรทำพร้อมกันเพื่อหลีกเลี่ยงการจับลูกสุกรหลายๆครั้ง การตัดฟันลูกสุกรแรกคลอดมีฟันที่แหลมคมอยู่ 4 คู่ โดย 2คู่ อยู่ที่ขากรรไกรบน และอีกคู่อยู่ที่ขากรรไกรล่าง ฟัน 4 คู่ นี้ไม่มีประโยชน์ต่อลูกสุกร แต่จะทำให้ระคายเคืองต่อเต้านมแม่สุกรขณะที่ลูกสุกรดูดนม จึงควรตัดให้เรียบสั้นหลงคลอด การตัดต้องระมัดระวังอย่าให้ฐานของฟันเสีย หรือเหลือรอยขรุขระแหลมคมไว้ หรือเป็นสาเหตุที่เป็นอันตรายต่อเหงือก (การตัดฟันลูกสุกรโดยไม่ระมัดระวังจะทำให้เหงือกได้รับอันตรายจากเครื่องมือที่ใช้ได้ เช่น ไปตัดโดนเหงือก เครื่องมือที่ใช้ตัดฟันถ้าไม่คมก็จะตัดฟันได้ไม่เรียบ ฐานฟันอาจเสีย และทำให้เหงือกได้รับอันตราย บางครั้งเหลือรอยขรุขระแหลมคมไว้เหมือนขวดแก้วแตก ฟันเช่นนี้ เมื่อไปกัดหัวนมแม่สุกร จะคมยิ่งกว่าฟันธรรมดาที่ไม่ได้ถูกตัด)

การตัดหาง เป็นการป้องกันการกัดหางกัน ดังนั้นจะตัดหางลูกสุกรทุกตัว โดยตัดออก 2/3 ส่วน เหลือ 1 ส่วน การตัดสั้นจะทำให้เลือดออกมาก แผลหายช้า เมื่อตัดเสร็จแล้วทาทิงเจอร์ไอโอดีน ปัจจุบันมีเครื่องตัดหางใช้ไฟฟ้าจะช่วยลดการสูญเสียเลือดและลดโอกาสติดเชื้อ

  1. การตัดหู

ลูกสุกรควรตัดเบอร์ตามต้องการของแต่ละฟาร์ม การตัดเบอร์ต้องลึกพอสมควร เพราะถ้าไม่ลึกพอ เมื่อลูกสุกรโตแผลจะติดกันทำให้ยากต่อการอ่าน หลังตัดต้องทาทิงเจอร์ไอโอดีนบริเวณแผล เครื่องมือตัดหูควรฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังการใช้งาน

  1. การฉีดธาตุเหล็กและป้อนยากันบิด

โรคโลหิตจางในลูกสุกรมักเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ทั้งนี้เพราะลูกสุกรมีความต้องการธาตุเหล็กประมาณ 200-350 มิลลิกรัม มากเกินกว่าที่ได้รับจากน้ำนมแม่ เนื่องจากลูกสุกรมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว และธาตุเหล็กที่เก็บสำรองในตัวลูกสุกรที่เกิดใหม่มีอยู่ประมาณ 45-50 มิลลิกรัม เพื่อป้องกันโรคนี้ควรฉีดธาตุเหล็กจำนวน 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน เมื่อลูกสุกรมีอายุ 2-3 วัน

โรคบิดในลูกสุกรเกิดจากเชื้อโปรโตชัวที่เรียกว่า ไอโซสปอร่า ซูอิส (Isospora suis) โดยมีการเจริญเติบโตในทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องเสียในลูกสุกรดูดนม แม้ว่าจะพบได้ในสุกรทุกอายุ แต่จะอันตรายมากที่สุดในช่วงลูกสุกรดูดนม 1-2 สัปดาห์ ควรกรอกยากันบิด (โททราซูริล: Totrazuril 5 % หรือ 50 มิลลิกรัมต่อซีซี) ตัวละ 1 ซีซี หรือ 1 ปั๊ม ในลูกสุกรอายุ 2-3 วัน พร้อมกับฉีดธาตุเหล็ก

  1. การตอนลูกสุกรตัวผู้

ควรตอนลูกสุกรอายุ 5-7 วัน หลังคลอด โดยวิธีตอน 2 แผล กรีดขนานเส้นแบ่งอัณฑะแล้วดึงอัณฑะทั้ง 2 ข้างออกมา การตอนในช่วงอายุนี้อันตรายจากการตอนมีน้อยกว่าช่วงที่ลูกสุกรโตแล้ว เพราะจับลูกสุกรได้ง่ายกว่าและแผลจะหายเร็ว

  1. การหัดให้กินอาหารเลียราง

เริ่มให้อาหารเลียรางแก่ลูกสุกรอายุ 7-10 วัน การเริ่มกระตุ้นให้ลูกสุกรกินอาหารเลียรางที่อายุน้อยเพื่อให้ลูกสุกรใกล้หย่านมกินอาหารเลียรางได้มากกว่า 60 กรัมต่อตัวต่อวัน ลดปัญหาทรุดหลังหย่าในอนุบาล