เมษายน 3, 2024

การจัดการในภาวะวิกฤต แม่สุกรป่วยก่อนคลอด และลูกหมูแรกคลอดท้องเสียและตายก่อนหย่านม

Knowledge ความรู้ทั่วไป

ปัญหาแม่สุกรอุ้มท้องป่วยก่อนคลอด ส่งผลกระทบต่อแม่และลูกสุกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากแม่สุกรที่ป่วยจะกินอาหารน้อยลง  ในขณะที่แม่สุกรต้องการสารอาหารจำนวนมากในการเพิ่มจำนวนเซลล์ผลิตน้ำนม เพื่อเตรียมสำหรับการสร้างนมน้ำเหลืองที่เป็นภูมิคุ้มกันต่อโรคสำหรับลูกสุกรแรกคลอด สิ่งที่ผู้เลี้ยงสุกรจะสังเกตเห็นได้คือ  แม่สุกรรอคลอดบางตัวป่วย  นอนซึม ไม่อยากลุกขึ้นกินอาหาร เต้านมแม่สุกรไม่ขยายขนาดเท่าที่ควร มีขนาดเล็กไม่เต่งตึง หรือที่เรียกกันว่า  นมไม่ลงเต้า  ฟาร์มจะพบปัญหาแม่สุกรใช้เวลาคลอดนานกว่าปกติ   ส่งผลให้ลูกสุกรแรกคลอดอ่อนแอและตายแรกคลอดเพิ่มมากขึ้น ลูกสุกรได้รับนมน้ำเหลืองไม่เพียงพอ ลูกอ่อนแอ ถ่ายเหลว และท้องเสียตามมา และหากมีการปนเปื้อนเชื้อในเล้าคลอดหรือในน้ำกินที่ทำให้ลูกสุกรแรกคลอดท้องเสีย เช่น อี.โคไล (colibacillosis) และคลอสทริเดียม (clostridial enteritis) จะทำให้สถานการณ์การถ่ายเหลว และท้องเสีย ของลูกสุกรรุนแรงมากขึ้น และอัตราการตายก่อนหย่านมเพิ่มมากขึ้นด้วย ในบทความนี้จะเล่าถึงรายละเอียดขั้นตอนการแก้ไขและป้องกัน แบบ Total Solution ที่อาจเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการจัดการปัญหานี้

แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะวิกฤต แม่สุกรป่วยก่อนคลอด แบบ Total Solution

1. การสืบค้นวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาและการเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการ

2. มาตรการ ขั้นตอนการแก้ไขและป้องกัน

การสืบค้นวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาและการเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการ

ทำการประชุมทีมงานฟาร์ม (เจ้าของ ผู้จัดการ และสัตวบาลฟาร์ม) เพื่อร่วมกันสืบค้นวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา  กำหนดมาตรการและแนวทางการแก้ไข  เดินฟาร์มเพื่อเก็บตัวอย่างเลือดและอวัยวะภายในของสุกรสาว แม่สุกรที่ป่วยและตาย ส่งตรวจห้องปฏิบัติการ อาจทำให้พบว่าเลือดสุกรสาวให้ผลบวกต่อเชื้อเซอร์โคไวรัส (PCV2-PCR) และผลการตรวจอวัยวะภายในของสุกรสาวและแม่สุกรที่ตาย   อาจจะทำพบเชื้อพลาสเจอเรลล่า (P.multocida) ในปอด ต่อมน้ำเหลือง และหัวใจ และพบเชื้ออี.โคไล ในม้าม และเก็บตัวอย่างน้ำกินในเล้าคลอดและลำไส้ลูกสุกรที่ท้องเสียส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาจพบเชื้อคลอสทริเดียม (C.perfringens) ทั้งในน้ำกินเล้าคลอดและลำไส้ลูกสุกรที่ท้องเสียร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม จะต้องตรวจลำไส้ลูกสุกรที่ท้องเสียหาสาเหตุจากโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย ว่าพบเชื้อ พีอีดี (PED), ทีจีอี (TGE), เชื้อโรทาไวรัส (Rotavirus), และเชื้อบิด (Isospora suis) หรือไม่

มาตรการ ขั้นตอนการแก้ไขและป้องกัน

1. ให้หยุดขบวนการทำคลอดทุกอย่าง (หยุดตัดเขี้ยว ตัดหาง ฉีดธาตุเหล็ก ปั๊มยากันบิด ตอนไข่ และฉีดยาปฏิชีวนะ) ในเล้าที่ลูกสุกรกำลังท้องเสียอย่างหนักและจำนวนมาก (มีเล้าคลอด 2-3 หลัง ที่ลูกสุกรอายุ 1-10 วัน ท้องเสีย 30-80 %) เพื่อไม่ให้มีใครเข้าไปในซองคลอด ป้องกันเชื้อแพร่กระจายไปพร้อมกับคน (รองเท้าบูท เสื้อ กางเกง มือ เข็ม และเครื่องมือ) จากซองคลอดหนึ่งไปสู่อีกซองคลอดหนึ่งในโรงเรือนเดียวกัน และจากโรงเรือนหนึ่งไปสู่อีกโรงเรือนหนึ่ง (traffic control)

2. จัดแบ่งหน้าที่ทีมทำคลอดใหม่ (ไม่ได้ทำคลอดแล้ว) ให้ไปทำหน้าที่อื่นๆ ฟาร์มมีทีมทำคลอด 3 คน เดิมช่วยกันทำคลอดลูกสุกรพร้อมกันทั้ง 3 คนในแต่ละหลัง   จัดทีมใหม่โดยให้ทีมทำคลอด 2 คนไปช่วยคนเฝ้าคลอด (ฟาร์มมีคนเฝ้าคลอดช่วงกลางวัน 1 คน และช่วงกลางคืน 1 คน) ในเล้าที่แม่กำลังคลอดลูกจำนวนมาก (ช่วยเช็ดตัวลูกที่คลอดออกมา  คลุกผงโรยตัวลูกสุกรให้ตัวแห้งเร็วขึ้น  ผูกและตัดสายสะดือ  จับลูกสุกรเข้ากล่องกก ให้ตัวแห้ง และจับลูกเข้าหาเต้านม)  และทีมทำคลอดอีก 1 คน ไปช่วยคนเฝ้าคลอดในเล้าที่แม่กำลังเริ่มคลอดลูก

3. ห้ามสัตวบาลทำงานข้ามเล้า (เดิมสัตวบาลจะเดินเข้าทุกเล้า)  ให้ทำงานอยู่เล้าหนึ่งเล้าใดในแต่ละวัน

4. ปรับเพิ่มโปรแกรมการฉีดยาปฏิชีวนะในสุกรสาวและแม่รอคลอด ปกติสุกรสาวและแม่รอคลอดจะได้รับการฉีดยาปฏิชีวนะอะม็อกซีซิลลิน ชนิดออกฤทธิ์นาน (Amoxicillin LA) ก่อนคลอด 1 วัน ให้เพิ่มการฉีดยาปฏิชีวนะเซฟติโอเฟอร์ ( Ceftiofur ) ในสุกรสาวและแม่รอคลอดทุกตัว  เนื่องจากสุกรสาวและแม่รอคลอดแสดงอาการป่วยค่อนข้างมาก (อาการที่เห็น คือ บางตัวแสดงอาการหอบไอด้วยช่องท้อง ไม่กินอาหารและหรือกินอาหารลดลง 50 เปอร์เซนต์ นอนซมไม่ลุกขึ้นยืน ผอม ตัวซีดเหลือง)

5. ลดความชื้นในเล้า เพื่อให้ภายในเล้าและในซองคลอดแห้งมากที่สุด

  • ให้หยุดล้างเล้าที่แม่สุกรกำลังคลอดลูกและเล้าที่ลูกสุกรกำลังถ่ายเหลว ท้องเสีย (ลูกสุกรแรกคลอดถึง 10 วัน) ทั้งล้างพื้นทางเดิน ล้างตัวแม่ และล้างรางอาหารแม่ (ใช้ฟองน้ำเช็ดรางอาหารแทน)
  • ให้ใช้ฟองน้ำชุบยาฆ่าเชื้อเบตาดีนหรือเดทตอล เช็ดทำความสะอาดบริเวณก้น อวัยวะเพศ เต้านม พื้นคอกที่มีคราบเลือด น้ำคาวปลา แทนการล้าง
  • ใช้ผงโรยตัวลูกสุกรโรยพื้นคอกเพื่อให้พื้นคอกแห้ง
  • ลดความชื้นในเล้า โดยปรับตั้งเวลาการพรมน้ำคูลลิ่งแพดใหม่ ลดระยะเวลาการพรมน้ำคูลลิ่งแพด และเพิ่มการระบายอากาศด้วยพัดลมเพิ่มขึ้น ทั้งการเปิดประตูเล้าด้านคูลลิ่งแพดในช่วงเช้าและเย็นเพื่อให้ลมเข้าเล้ามากขึ้น ตรึงสายพานพัดลมและเปลี่ยนสายพานพัดลมใหม่ อย่างไรก็ตาม การลดระยะเวลาการพรมน้ำคูลลิ่งแพด ได้กำชับสัตวบาลระวังไม่ให้อุณหภูมิในเล้าคลอดสูงเกิน 28-29 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้แม่สุกรหอบ ซ้ำเติมปัญหาแม่สุกรป่วยและลูกสุกรท้องเสียได้

6. ให้เล้าผสม-อุ้มท้อง เสริมวิตามินเกลือแร่ รวมถึงยาปฏิชีวนะชนิดผง ให้กับแม่สุกรอุ้มท้องอายุ 14-15 สัปดาห์ (ก่อนย้ายขึ้นมายืนซองรอคลอด) โดยการตักวิตามินเกลือแร่ และยาปฏิชีวนะชนิดผง เททับไปบนอาหารก่อนที่จะโยกให้แม่สุกรอุ้มท้องกินวันละ 1 ครั้ง

7. ให้วิตามินและเกลือแร่แก่ลูกสุกร เนื่องจากลูกสุกรที่ท้องเสียจะสูญเสียเกลือแร่ออกจากร่างกายมาก  ทำให้ลูกสุกรตายจากการขาดน้ำและเกลือแร่ได้   วิธีการให้วิตามินเกลือแร่ คือ  การกรอกปากลูกสุกร  การเทวิตามินเกลือแร่ในถาดน้ำเพื่อให้ลูกสุกรได้กินตลอดเวลา

8. แม่สุกรอุ้มท้องแก่ก่อนที่จะย้ายขึ้นไปยืนซองรอคลอด ให้ฉีดวิตามิน เช่น วิตามินบีรวม  เพื่อกระตุ้นการกินอาหารเมื่อแม่สุกรขึ้นไปอยู่บนเล้าคลอด

9. ให้สัตวบาลพิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์วงกว้างได้ทั้งโรคทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์และรักษาเต้านมอักเสบ ให้กับแม่สุกรที่แสดงอาการป่วยทั้งก่อนและหลังคลอด เช่น ยาปฏิชีวนะอ๊อกซีเตตร้าซัยคลิน ชนิดออกฤทธิ์นาน (ชื่อการค้าคือ Oxytetra L.A.20 %® ; BP) โดยปรับเปลี่ยนหรือสลับการใช้กับยาปฏิชีวนะตามข้อ 4

10. ให้เพิ่มโปรแกรมการฉีดวัคซีนเชอร์โคไวรัส (PCV2) ในยูนิตสุกรสาวทดแทน จากเดิมที่ฉีดเฉพาะสุกรสาวอายุ 16 สัปดาห์(ในเล้าเลี้ยงสุกรพันธุ์)

ในบทความต่อไป สัตวแพทย์ผู้ดูแลฟาร์มสุกรจะมาเล่าประสบการณ์จริง ในการจัดการฟาร์มสุกรที่เกิดภาวะวิกฤตแม่สุกรป่วยก่อนคลอด และลูกหมูแรกคลอดท้องเสียและตายก่อนหย่านม และบอกเล่าถึงวิธีการจัดการฟาร์มให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดได้อย่างไร