กุมภาพันธ์ 14, 2023

การจัดการดูแลไก่เนื้อช่วง 7 วันแรก

แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

การจัดการดูแลไก่เนื้อช่วงสัปดาห์แรกเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากเป็นช่วงที่อวัยวะต่างๆกำลังพัฒนาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มในร่างกาย เพื่อให้ไก่เนื้อเติบโตมีสุขภาพแข็งแรงตามมาตรฐานสายพันธุ์ ผู้เลี้ยงจะต้องมีการจัดการที่เหมาะสมในด้านต่างๆดังต่อไปนี้

1.การเตรียมโรงเรือน สำหรับวงรอบการผลิตใหม่ เมื่อจับไก่ออกหมดฟาร์ม ผู้เลี้ยงจะล้าง ทำความสะอาด และพ่นฆ่าเชื้อโรงเรือนและอุปกรณ์ ต่างๆเช่น ถาดอาหาร อุปกรณ์ให้น้ำ ฝ้า เพดาน ม่าน หลังจากเสร็จเรียบร้อยฟาร์มควรพักโรงเรือน อย่างน้อย 14 วัน  เพื่อตัดวงจรการติดต่อของโรคบางชนิด ก่อนลงไก่ในรุ่นถัดไป

2.วันแรกที่ไก่มาถึงฟาร์ม ควรสุ่มชั่งน้ำหนัก 1-2 % ของฝูง และตรวจสอบคุณภาพลูกไก่ด้วยการสังเกตลักษณะภายนอก ลูกไก่ที่มีคุณภาพดีจะต้องมีลักษณะดังนี้

  • ขนแห้งฟู
  • นัยน์ตากลมสดใส
  • สดใสตื่นตัวตลอดเวลา
  • สะดือแห้งปิดสนิท
  • ขาและแข้งสีสดใสเป็นมันวาว
  • ขาและเข่าไม่มีลักษณะแดงช้ำ
  • จะต้องไม่มีลักษณะผิดปกติ เช่น ขาโก่งบิดงอ คอบิดและจะงอยปากบิดไขว้ เป็นต้น

3.การรับลูกไก่ และการจัดการช่วงกกไก่

อุณหภูมิ เตรียมอุณหภูมิโรงเรือนและวัสดุรองพื้นให้เหมาะสม เนื่องจากลูกไก่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 5 วัน จะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ได้และระบบควบคุมอุณหภูมิ

ร่างกายจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นจนสมบูรณ์ เมื่ออายุประมาณ 14 วัน อุณหภูมิร่างกายจะขึ้นกับอุณหภูมิภายใต้เครื่องกก หากอุณหภูมิไม่เหมาะสมจะทำให้ไก่หนาวนอนสุมรวมกัน กินอาหารและน้ำลดลง ส่งผลให้การเจริญเติบโตหยุดชะงักและเจ็บป่วยได้ง่าย ฟาร์มควรปรับอุณหภูมิภายในกกที่ระดับตัวไก่ให้ได้ 32-35 Co และเปิดกก ก่อนลูกไก่ถึงฟาร์มอย่างน้อย 2 – 4 ชั่วโมง

การจัดการวัสดุรองพื้น ใช้แกลบใหม่ สะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว มีความสูงจากพื้น 5 เซนติเมตร หรือบริเวณที่แกลบบางไม่ควรน้อยกว่า 2 เซนติเมตร กรณีที่พบว่าแกลบใต้ไลน์น้ำแฉะให้ตักออกและเปลี่ยนแกลบใหม่บริเวณนั้นเพื่อลดปัญหาฝ่าเท้าอักเสบและแก๊สในโรงเรือน

แสงสว่าง ความเข็มแสงที่เหมาะสมของการเลี้ยงไก่เนื้อประมาณ 25 LUX และสม่ำเสมอทั่วกันทั้งโรงเรือน พบว่าความยาวแสงต่อวันส่งผลต่อการกินอาหารและการพักผ่อนของไก่ ส่วนความเข้มแสงส่งผลต่อการมองเห็น การใช้ความเข้มแสงมากเกินไปจะทำให้ไก่เกิดความเครียดได้ ดังนั้นควรปรับความเข้มแสงให้น้อยลงระหว่างที่จัดลูกไก่เข้าโรงเรือน

อาหารและน้ำดื่ม อาหารระยะเริ่มต้น( Starter diet) และน้ำดื่ม ต้องสะอาดและมีปริมาณเพียงพอ เมื่อลูกไก่มาถึงฟาร์มต้องได้รับน้ำและอาหารโดยเร็วที่สุด เพื่อการพัฒนาอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ของระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไก่

ความหนาแน่นและอัตราการเลี้ยง 7 วันแรกเป็นช่วงการกกไก่จะทำการแบ่งพื้นที่การกกประมาณ 50-80 % ของพื้นที่โรงเรือน (ขึ้นอยู่กับฤดูกาล) เป็นห้องเท่าๆกัน จำนวนลูกไก่ต่อห้องไม่เกิน 50 ตัวต่อตารางเมตร ทำการขยายกกทุกๆ 3 วัน และขยายเต็มโรงเรือนที่อายุมากกว่า 10 วัน ทั้งนี้ให้พิจารณาตามความเหมาะสมเพื่อให้ไก่ได้กินน้ำอาหารได้อย่างเพียงพอ ความหนาแน่นและอัตราการเลี้ยงจะขึ้นอยู่กับฤดูกาล อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ อุปกรณ์การเลี้ยงและลักษณะของโรงเรือน สำหรับการเลี้ยงไก่เนื้อในโรงเรือนระบบปิดที่ควบคุมสภาพแวดล้อมสามารถเลี้ยงได้ไม่ควรเกิน 30 กก./ตร.เมตร (น้ำหนักตัวเมื่อจับขาย)

การระบายอากาศ การระบายอากาศมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดก๊าซแอมโมเนียและความชื้นส่วนเกินออกจากโรงเรือนและจัดหาอากาศบริสุทธิ์ที่มีคุณภาพดีให้กับลูกไก่ที่อยู่ภายในโรงเรือนเพื่อให้มีปริมาณออกซิเจนเพียงพอและมีความชื้นเหมาะสม เนื่องจากลูกไก่จะไวต่อความเร็วลมมากและอาจจะเกิดภาวะ Wind-chill effect ได้โดยเฉพาะในลูกไก่เล็ก ดังนั้น ความเร็วลมจะต้องไม่มากจนเกินไป

ตารางแสดง ค่าความเร็วลมสูงลุดที่พัดผ่านตัวไก่ (ไม่ควรเกิน)

ที่มา; Cobb Broiler Management Guide(2013) หน้า 17

4.การควบคุมและการป้องกันโรค

  • เน้นการรักษาระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัดในฟาร์มไก่เนื้อ
  • สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคสำคัญในฝูงไก่เนื้อ เช่นโรคนิวคาสเซิล โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ ด้วยเทคนิคการให้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
  • ในช่วงสัปดาห์แรกมักพบการสูญเสียสูงจากคุณภาพของลูกไก่ เช่น อ่อนแอ แห้งน้ำ สะดืออักเสบ ถุงไข่แดงอักเสบติดเชื้อ หากพบปัญหาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการ 3-5 วัน สำหรับ วิตามิน สารเสริม แนะนำให้ใช้เพื่อคลายเครียดจากสถานการณ์ต่างๆ เช่น กระบวนการขนส่งลูกไก่ เพื่อให้ลูกไก่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงตลอดการเลี้ยง

เรียบเรียงโดย สพ.ญ.ภาษิตา เจริญยิ่ง บริการวิชาการสัตว์ปีก เครือเบทาโกร