Articles
ความสำคัญในการถ่ายพยาธิในโค
Knowledge ความรู้ทั่วไปพยาธิภายในของโคจัดว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพและผลผลิตของโคในประเทศไทย เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้นและเหมาะสมในการเจริญพันธุ์และแพร่พันธุ์ของพยาธิ ซึ่งพยาธิภายในเป็นสาเหตุหนึ่งในการทำลายสุขภาพของสัตว์ เพราะนอกจากจะเป็นตัวการทำให้สุขภาพสัตว์ทรุดโทรมแล้ว ยังทำให้เกิดสภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆได้ง่ายขึ้น เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย ส่งผลให้สัตว์เจริญเติบโตช้า อยู่ในสภาวะขาดสารอาหาร เนื่องจากพยาธิเป็นตัวอุปสรรคต่อการย่อยและการดูดซึมสารอาหาร อีกทั้งยังเป็นตัวรบกวนต่อการเกิดปฏิกิริยาทางเคมีของอาหาร พยาธิภายในมีผลต่อความต้านทานโรคของร่างกายสัตว์ โดยจะทำให้ความต้านทานต่อโรคต่างๆลดลง นอกจากนี้ยังอาจจะอุดตันลำไส้ของลูกโค ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยเฉพาะพยาธิในกลุ่ม Neoascaris (Toxocara) Vitulorum ซึ่งพบมากในลูกโค นอกจากจะทำให้ลำไส้อุดตันแล้ว ยังทำให้เกิดวิการที่ลำไส้ถึงขั้นลำไส้ทะลุได้ ดังนั้นการถ่ายพยาธิในโคจะช่วยลดปัญหาความสูญเสียเนื่องจากพยาธิได้
พยาธิภายในที่สำคัญในโค กระบือ ในประเทศไทยที่พบบ่อย และทำอันตรายรุนแรง แก่สัตว์แบ่งเป็น 3กลุ่ม ได้แก่กลุ่มพยาธิใบไม้พยาธิก่อโรคสำคัญ คือ พยาธิใบไมในตับ (Fasciolaspp.) พยาธิใบไม้ในกระเพาะอาหาร (Amphistome) พยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosoma spp.) กลุ่มพยาธิตัวกลม พยาธิก่อโรคสำคัญ คือ พยาธิไส้เดือน (Toxocara spp.) พยาธิเส้นด้าย (Strongyloides spp.) พยาธิแส้ม้า (Trichuris spp.) และกลุ่มพยาธิตัวตืด พยาธิก่อโรคสำคัญ คือ พยาธิตัวตืดโมนีเซีย (Moniezia spp.)
การรักษาโคที่ติดพยาธิตัวกลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยการใช้ยาถ่ายพยาธิ ซึ่งมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน ยาถ่ายพยาธิบางชนิดออกฤทธิ์ต่อพยาธิชนิดหนึ่งได้สูงกว่าอีกชนิดหนึ่ง ดังนั้น หากทราบชนิดของพยาธิที่อยู่ในร่างกายโคแล้วก็จะสามารถเลือกใช้ยาถ่ายพยาธิให้แก่โคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไอเวอร์เมคติน เป็นยาถ่ายพยาธิที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายโดยตัวยาออกฤทธิ์ต่อต้านปรสิตในสัตว์ได้ 2 กลุ่มคือ พยาธิตัวกลมและสัตว์ขาปล้อง ไอเวอร์เมคตินออกฤทธิ์ในการทำลายพยาธิตัวกลมที่พบในกลุ่ม Trichostrongylidea, Strongylodea, Metastrongyloidea, Rhabditoidea, Ascaridiodea, Oxyuriodea, Spiruroidea, Filariodea และ Trichuroidea เป็นต้น เบสเทอร์ไอเวอร์เทค พลัส ซึ่งมีตัวยาไอเวอร์เมคตินและคลอซูลอน สามารถฆ่าพยาธิตัวกลมและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถฆ่าพยาธิใบไม้ในตับได้ โดยแนะนำฉีดในแม่โคนมในระยะดราย
อิพริโนเมคติน (Eprinomectin) เป็นยาในกลุ่ม macrocyclic lactones (ML) เช่นเดียวกับ ivermectin, doramectin และ selamectin โดยออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทของปรสิตโดยทำให้เกิดการเปิดของ glutamate – gated chloride ion channel ซึ่งพบเฉพาะในเซลล์ประสาทของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ทำให้ chloride ion ไหลเข้าสู่ภายในเซลล์ประสาท ส่งผลให้เกิด hyperpolarization ซึ่งทำให้กระแสประสาทถูกขัดขวางนำไปสู่การเกิดอัมพาตแบบ flaccid paralysis และการตายของปรสิต นอกจากนี้แม้ว่ายาจะเข้าจับที่ GABA receptor บริเวณ GABA – gated chloride ion channel ได้ แต่พบว่า eprinomectin และยาตัวอื่นในกลุ่ม ML จะเข้าจับที่ glutamate – gated chloride ion channel เป็นหลัก โดยอีพรีซิส (Eprecis®) ซึ่งประกอบด้วยตัวยา Eprinomectin สามารถใช้ได้ในแม่โคหลังคลอด 80 – 200 วัน โดยไม่จำเป็นต้องหยุดส่งนม ไม่แสบ ไม่บวม
การป้องกัน การจัดการทุ่งหญ้าที่ดี การทำให้คอกลูกโคแห้งและสะอาด เพื่อหลีกเลี่ยงการไชของพยาธิเข้าสู่ร่างกายโคทางผิวหนัง แม่โคที่ท้อง ควรได้รับการถ่ายพยาธิเพื่อป้องกันการติดผ่านรก ในส่วนของพยาธิใบไม้ตับการควบคุมทําได้โดยลดจํานวนประชากรหอย และการใช้ยาถ่ายพยาธิ การควบคุมหอย ทําได้โดยอย่าปล่อยให้มีน้ำขังระบายน้ำได้ดี และใช้สารเคมีกำจัดหอย ได้แก่ จุนสีหรือคอปเปอร์ซัลเฟต โดยการควบคุมหอยจะต้องทำควบคู่กับการใช้ยาถ่ายพยาธิในโคด้วย