พฤษภาคม 23, 2023

สุกรไส้ดำ Melanosis Coli เป็นปัญหาหรือภาวะปกติกันแน่?

Knowledge ความรู้ทั่วไป

ภาวะลำไส้ดำ หรือที่เรียกตามศัพท์เฉพาะทางการแพทย์ว่า “Melanosis Coli” เป็นภาวะที่ผนังด้านในของลำไส้ใหญ่เปลี่ยนเป็นสีดำ เนื่องจากมีการสะสมรงควัตถุสีเข้ม เช่น Melanin หรือ Ceroid หรือ Lipofuscin ในเชลล์เนื้อเยื่อชั้นนอก (Epithelial cell line) ของผนังลำไส้ โดยตำแหน่งของลำไส้ใหญ่ที่พบว่าเปลี่ยนเป็นสีดำมากที่สุดคือบริเวณไส้ตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนท้ายสุดก่อนถึงรูทวาร) การรายงานพบภาวะ Melanosis Coli ครั้งแรกในมนุษย์ ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1830 โดยรายงานว่าพบผู้ป่วยมีผนังลำไส้สีดำแบบน้ำหมึก (China Ink Color) ปัญหานี้ในมนุษย์มีงานวิจัยที่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายว่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่สัมพันธ์กับเกิดภาวะไส้ดำมากที่สุด คือ ผู้ป่วยมีภาวะท้องผูกแล้วใช้ยาถ่ายต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน และภาวะไส้ดำจากการใช้ยาถ่ายสามารถหายไปหลังจากหยุดใช้ยาถ่ายไป 4-11 เดือน รวมถึงไม่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลำไส้ในมนุษย์ด้วย

สำหรับมนุษย์ภาวะไส้ดำนี้มักเป็นภาวะที่พบโดยบังเอิญและไม่ได้ก่อปัญหาร้ายแรงในเชิงสุขภาพ แต่ในสุกรภาวะไส้ดำหากพบในประชากรส่วนมากจะก่อปัญหาคุณภาพซากและเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ ในฟาร์มที่พบปัญหาดังกล่าวจึงมีการถกเถียงกันเป็นอย่างมาก  ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร? และจะแก้ไขอุบัติการณ์นี้ได้อย่างไร?  ปัจจุบันงานวิจัยและข้อมูลทางวิชาการเรื่อง Melanosis Coli ในสุกรยังมีค่อนข้างจำกัด และในแต่ละอุบัติการณ์ที่พบก็จะมีสาเหตุโน้มนำที่แตกต่างกันออกไป โดยสาเหตุโน้มนำในสุกรที่มีรายงานทางวิชาการยืนยันแล้ว มี 2 สาเหตุ  ได้แก่ การขาดวิตามินอี และการได้รับซัลเฟตปริมาณสูงในน้ำกินสุกร

โดยในปี  2014 Wilberts และคณะ จากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยประจำรัฐ Iowa ประเทศสหรัฐอเมริกา  (Iowa State University) ได้ทำการศึกษาตัวอย่างลำไส้สุกรในโรงเชือด โดยเก็บตัวอย่างจากสุกร 6 ฟาร์มที่มีรายงานพบภาวะ Melanosis Coli ในลำไส้  นำตัวอย่างลำไส้ทั้งปกติและผิดปกติมาศึกษาทางพยาธิวิทยาควบคู่กับการตรวจระดับของวิตามินอีในเซลล์ตับ  พบว่าระดับของวิตามินอีในตับที่ลดต่ำลงสัมพันธ์กับการเกิด Melanosis coli ในฟาร์มที่พบปัญหา สุกรทั้งสุกรที่ลำไส้ปกติและสุกรที่มีภาวะ Melanosis Coli ต่างมีระดับของวิตามินอีในตับต่ำกว่าปกติทั้งสองกลุ่ม ตามปกติปริมาณวิตามินอีในเซลล์ตับสุกรจะอยู่ในระดับ 4.3-11.4 ppm แต่สุกรฟาร์มจากฟาร์มที่พบปัญหา สุกรปกติมีปริมาณวิตามินอีในเซลล์ตับเฉลี่ย 3.23 + 0.52 ppm  และสุกรที่มีภาวะ Melanosis Coli มีปริมาณวิตามินอีในเซลล์ตับต่ำกว่าค่ามาตรฐานและต่ำกว่ากลุ่มปกติ เฉลี่ยเพียง 2.71 + 0.34 ppm  โดยมีการตั้งสมมุติฐานว่าสุกรจากฟาร์มเดียวกันแต่บางตัวลำไส้ปกติและบางตัวเกิดภาวะ Melanosis Coli เนื่องมาจากมีระดับวิตามินอีในร่างกายต่ำร่วมกับเกิดภาวะเครียดที่สูงกว่าสุกรปกติ เมื่อเกิดความเครียดจะทำให้เซลล์เกิดการตายของเซลล์ในผนังลำไส้และมีการปล่อยสารอนุมูลอิสระ  การมีวิตามินอีในร่างกายระดับต่ำมาก จึงไม่สามารถจะขจัดสารอนุมูลอิสระและเกิดการสะสมเศษเซลล์และอนุมูลอิสระที่ผนังลำไส้ในรูปแบบของ ceroid จำนวนมากและปรากฏเป็นสีผนังลำไส้ที่ดำคล้ำในที่สุด ในการศึกษานี้ผู้เขียนให้ข้อคิดเห็นว่า ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าการเกิด Melanosis coli อาจไม่จำเพาะต่อการขาดวิตามินอี แต่การขาดสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่นๆก็อาจก่อให้เกิด Melanosis coli หรือภาวะลำไส้ดำได้เช่นกัน

ส่วนกรณีสุกรได้รับซัลเฟตปริมาณสูงในน้ำส่งผลให้เกิดภาวะไส้ดำนั้น Irene M. Rodríguez-Gómez และคณะ ได้ทำการศึกษาทางกายภาพและพยาธิวิทยาตัวอย่างลำไส้ตรงจำนวน 15 ตัวอย่าง ที่ได้รับจากรายงานเคสการเกิด Melanosis Coli ในจังหวัด Granada และจังหวัด Málaga ทางตอนใต้ของประเทศสเปน จากฟาร์มสุกรขุน 4 แห่งที่พบอุบัติการณ์มากกว่า 75% ของสุกรที่เข้าเชือด ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2017 ผลการศึกษาพบว่าลักษณะสีที่ผิดปกติของลำไส้ตรงมีทั้งสีเขียวเข้ม สีน้ำตาล และสีดำ แต่สารรงควัตถุที่สะสมในลำไส้เป็นสารชนิดเดียวกันคือ Lipofuscin (กลุ่มย่อยของ Ceroid) และสุกรจาก 4 ฟาร์มนี้ไม่พบปัญหาสุขภาพในช่วงก่อนการจับสุกรเข้าเชือด แต่พบว่าน้ำกินสุกรจากทั้ง 4 ฟาร์ม มีระดับซัลเฟตในน้ำสูงกว่าระดับปกติถึง 13.6 – 19.7 เท่า โดยปกติปริมาณของซัลเฟตในน้ำที่ยอมรับได้คือ 250 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ในฟาร์มทั้ง 4 แห่งนี้มีซัลเฟตในน้ำสูงถึง 4,290  3,390   4,710  และ 3,700 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ 1-4 โดยฟาร์มแห่งอื่นที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กับฟาร์มทั้ง 4 แห่งนี้ ไม่พบอุบัติการณ์ Melanosis coli และมีปริมาณของซัลเฟตในน้ำอยู่ในระดับปกติ

แม้ปัจจุบันจะมีอุบัติการณ์การพบปัญหาลำไส้ดำสูงขึ้นและยังไม่มีการยืนยันและรายงานสาเหตุที่ชัดเจน แต่หากต้องการป้องกันไม่ให้เกิดในฟาร์มสุกร เบื้องต้นต้องคำนึงถึงสาเหตุที่ก่อภาวะนี้ได้ในมนุษย์ไม่ว่าจะเป็น อาการท้องผูกเรื้อรัง การถ่ายเหลวต่อเนื่อง (เทียบเคียงกับการใช้ยาถ่ายกลุ่ม Anthraquinoid ในมนุษย์)  โรคระบบลำไส้เรื้อรัง การใช้ยาลดอักเสบชนิด NSAID ต่อเนื่องยาวนาน การขาดวิตามินอี และการขาดสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ  (วิตามินเอ วิตามินซี โอเมก้า3 และ ซีลีเนียม เป็นต้น) สาเหตุเหล่านี้ล้วนนำไปสู่การเกิด Melanosis coli ได้  นอกจากนี้ยังต้องป้องกันไม่เกิดภาวะเครียดที่จะกระตุ้นให้เกิดเซลล์ลำไส้ตาย (Apoptosis)

ดังนั้นไม่ว่าระบบการเลี้ยงสุกรจะเปลี่ยนไปรูปแบบใด การเลี้ยงพื้นฐานที่ควรมีคือ พื้นที่การเลี้ยงเพียงพอ คอกสะอาด อาหารสะอาด และน้ำสะอาด ยังคงเป็นหลักการที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ แต่หากมีเหตุสุดวิสัยเช่น เกิดการป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินอาหารไปแล้ว ในทางทฤษฎีการให้สารต้านอนุมูลอิสระอย่างเพียงพอในน้ำหรืออาหารหลังการพบปัจจัยเสี่ยงอาจเป็นแนวทางที่ช่วยขจัดสารอนุมูลอิสระและรงควัตถุที่สะสมในเซลล์ลำไส้ให้ลดน้อยลง ทำให้โอกาสการพบภาวะไส้ดำหรือ Melanosis coli ลดน้อยลงไปด้วย

ณ ขณะนี้ยังไม่มีการพัฒนายาที่เป็นไปได้ที่จะรักษาภาวะลำไส้ดำในหมูได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการป้องกันโดยการเลือกใช้อาหารที่เหมาะสมและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

นอกจากนี้ การเฝ้าระวังอาการของหมูเป็นสิ่งสำคัญเพื่อตรวจสอบการเกิดภาวะลำไส้ดำในระยะเริ่มต้น โดยการตรวจสอบสีของอุจจาระ หากพบว่ามีสีดำ น่าจะมีความเสี่ยงที่หมูอาจมีภาวะลำไส้ดำอยู่ ดังนั้นการเฝ้าระวังและตรวจสอบสุขภาพของสัตว์เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะลำไส้ดำในหมูได้