กรกฎาคม 20, 2022

ความสำคัญของปริมาณออกซิเจนต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการเลี้ยง (Dissolved Oxygen : DO)

Knowledge ความรู้ทั่วไป

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบพัฒนา ( Intensive System ) ในปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงปลาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยมีการใช้อาหารสำเร็จที่มีโปรตีนสูง มีการจัดการระหว่างการเลี้ยงที่เป็นระบบมากขึ้น มีการควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งคุณภาพน้ำที่ใช้ชี้วัดมีหลายค่าแต่ในที่นี้จะให้ความสำคัญกับ “ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ : DO”

ออกซิเจนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตเนื่องจากสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ย่อมต้องการออกซิเจนเพื่อการหายใจและเจริญเติบโต ปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากที่สุดคือ > 5.0 mg/l

ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิ , ความเค็ม , pH เป็นต้นออกซิเจนจะละลายในน้ำได้น้อยเมื่ออุณหภูมิสูง ดังนั้นสัตว์น้ำจะเสี่ยงต่อการขาดแคลนออกซิเจนมากกว่าสัตว์บกในช่วงฤดูร้อนเนื่องจากอัตราการย่อยสลายและปฏิกริยาต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้นทำให้ปริมาณความต้องการออกซิเจนสูงไปด้วย

แหล่งที่มาของออกซิเจนในน้ำ

  1. จากบรรยากาศโดยตรง เช่น กระแสลมพัดผ่านผิวน้ำ แต่มีปริมาณไม่มาก
  2. จากขบวนการสังเคราะห์แสง (photosynthesis) ของพืชน้ำ เช่น แพลงก์ตอนพืชเป็นแหล่งให้ออกซิเจนในน้ำมากที่สุด ซึ่งตอนกลางวันพืชน้ำจะสังเคราะห์แสงผลิตออกซิเจนออกมาละลายในน้ำ
  3. จากขบวนการเคมีอื่นๆ ในน้ำโดยแหล่งน้ำบางแหล่งมีแร่ธาตุทำปฏิกริยากันทำให้เกิดออกซิเจนละลายในน้ำได้

เราสามารถเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำได้อย่างไรบ้าง ?

  1. ควบคุมปริมาณพืชน้ำและแพลงก์ตอน เพื่อให้ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำเพียงพอตลอดวัน
  2.  ลดการเน่าสลายของอินทรีย์วัตถุต่างๆ ถ้าปริมาณความต้องการออกซิเจนสูงมากแสดงว่าในน้ำมีอินทรีย์วัตถุเน่าสลายอยู่มาก
  3.  การติดตั้งเครื่องเติมอากาศ ซึ่งการเติมอากาศมีหลายรูปแบบแต่ที่นิยมทำกันในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คือ

3.1 ระบบเติมอากาศแบบเวนจูรี่ (Venturi Aeration)

3.2. ระบบเติมอากาศแบบใบพัดตีน้ำ

3.3 ระบบเติมอากาศแบบซุปเปอร์ชาร์จ

ประโยชน์ที่สัตว์น้ำจะได้รับจากการเพิ่มปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ

  1. ป้องกันการขาดออกซิเจนของปลาในช่วงสภาวะวิกฤต เช่น ช่วงเช้ามืด ช่วงที่ฟ้ามืดครึ้มหรือฝนตกติดต่อกันหลายวัน
  2. ป้องกันการแยกชั้นของมวลน้ำ ส่งผลให้ปลาสามารถกระจายตัวได้ทั่วทั้งบ่อและลดความเครียดของปลาด้วย
  3. เพิ่มอัตราการเจริญเติบโตและเสริมสร้างสุขภาพปลาให้แข็งแรง ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำทำให้คุณภาพทั้งทางด้านกายภาพ , ชีวภาพและเคมี อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสัตว์น้ำจึงเจริญเติบโตได้ดี
  4. สภาพพื้นก้นบ่ออยู่ในสภาพดีและยืดอายุการใช้งานของบ่อเลี้ยง เพราะว่าออกซิเจนทำให้จุลินทรีย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เคล็ดลับควรรู้ :เวลาที่จะให้อาหารปลา กระบวนการย่อยและกระบวนการเผาผลาญ    พลังงานต่างๆเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตจำเป็นต้องใช้ปริมาณออกซิเจในปริมาณทีค่อนข้างมากดังนั้นควรเปิดเครื่องให้อากาศก่อนให้อาหารประมาณครึ่งชั่วโมงและหลังจากให้อาหารเสร็จควรเปิดเครื่องให้อากาศต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง