มิถุนายน 6, 2022

อยากกลับมาลงหมูใหม่ ทำอย่างไรให้รอด

แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

การกลับมาเลี้ยงใหม่เป็นเรื่องที่เกษตรกรหลายคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรมาอย่างยาวนาน แต่ประสบปัญหา ASF มีความกังวลเมื่อต้องกลับมาลงเลี้ยงอีกครั้ง ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ในการเลี้ยงสุกรในพื้นที่เดิมที่เคยเกิดปัญหาหากมีการจัดการที่ดี เราอาจจะไม่พบปัญหาซ้ำอีก ทั้งนี้เราอาจกำหนดมาตรการต้องทำและ อย่าหาทำ ดังต่อไปนี้

5 สิ่งที่ต้องทำ

  • ทำความสะอาดให้เหมือนใหม่ให้มากที่สุด เล้าเก่าให้เหมือนใหม่ เป็นเรื่องที่ยากแต่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดโรงเรือน พื้น ผนัง เพดาน เป็นอย่างดี แต่ พบบ่อยว่า ยังเก็บมูลสุกรไว้ในถุงข้างโรงเรือน หรือ ไม่มีการลงปูนขาวในบ่อน้ำทิ้ง ทางระบายน้ำ หรือ บ่อเกรอะ ซึ่งอาจเป็นแหล่งของเชื้อที่อาจจะหลงเหลือได้ นอกจากนี้ จุ๊บน้ำ รางอาหาร และ cooling pad ต้องถอดออกล้าง ฆ่าเชื้อด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ควรซ่อมแซมเล้าให้เหมาะแก่การเลี้ยงสุกร โดยไม่ก่อให้เกิดความเครียด หรือปรับปรุงเล้าเป็นระบบปิดหากยังเป็นเล้าเปิด
  • ตรวจสอบว่าเชื้อ ASF ไม่หลงเหลือ ต้องยอมรับว่าอาจทำได้ไม่ 100% แต่เราต้องมีการสุ่มตรวจจุดที่มีความเสี่ยงในการสะสมเชื้อในพื้นที่ ด้วยวิธี RT-PCR หลายฟาร์ม ไม่อยากลงทุนในเรื่องการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ หาก เปรียบเทียบต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการตรวจ จะมีมูลค่าเพียงสุกร น้ำหนัก 30 กิโลกรัม เพียง 2 ตัว เท่านั้น (ตรวจ 2 ครั้ง และมีการรวมตัวอย่างให้เหมาะสม) คิดเป็นต้นทุนที่น้อยมากเวลาลงเลี้ยงใหม่ ซึ่งมีการรับตรวจในห้องปฏิบัติการทั้งของทางราชการและเอกชนในหลายพื้นที่
  • ปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพให้ดีกว่าเดิม ไม่ได้หมายความว่าของเดิมที่มีมันไม่ดี เพราะบางฟาร์มได้มีการลงทุนในส่วนนี้ไปบ้างแล้วก่อนการเกิดโรค แต่หากสิ่งที่ลงทุนไป ไม่ได้มีการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการเราคงต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้นว่าเราต้องดำเนินการให้ถูกต้อง เช่น การใช้สารฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง ตามความเข้มข้นที่แนะนำ ระยะเวลาในการสัมผัสของสิ่งที่ต้องการฆ่าเชื้อ และน้ำยาฆ่าเชื้อจะต้องถูกต้อง มีการเปลี่ยนสารฆ่าเชื้อตามระยะเวลาที่กำหนด อย่างชัดเจน และตรวจสอบได้
  • ลงเลี้ยงหมูต้องหมั่นตรวจสุขภาพ การเข้าเล้าให้น้อยลง เป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคASF อย่างหนึ่งที่สำคัญ แต่เราต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการลดความเสี่ยงในเรื่องการพาเชื้อเข้าเล้ากับการหาสุกรป่วยได้ช้าซึ่งทำให้เกิดการแพร่ระบาด แน่นอนว่าเรามีเทคโนโลยี กล้องวงจรปิด หรือ IoT เข้ามาช่วยมากมาย แต่คนตัดสินใจยังคงต้องเป็นเกษตรกรอยู่ดี รวมทั้งการดำเนินการอื่นๆ เช่นการเก็บตัวอย่าง หรือ คัดแยกสุกรป่วย การตรวจสุขภาพฝูงสุกรด้วยสายตาทุกวัน และหรือ การใช้เครื่องมืออื่นๆ ร่วมเช่น thermoscan เพื่อลดการสัมผัสสุกร เป็นเรื่องที่ต้องทำ รวมถึงการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจเมื่อพบสุกรป่วยมีปัญหายังคงต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ
  • กำจัดจุดเสี่ยง โรค ASF มีช่องทางการติดต่อของโรคที่สำคัญคือ การสัมผัสโดยตรง เพราะฉะนั้นการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคไปถึงปากหมูจึงเป็นสิ่งต้องทำ การกำจัดความเสี่ยงด้วยการลดการสัมผัส และ ฆ่าเชื้อคือ มาตรการหลักที่ต้องทำในการควบคุมโรค นอกจากนี้ โรงเรือนระบบปิดที่ทำให้สุกรอยู่สบายและ ป้องกันการเข้าออกโดยง่าย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว ไม่นับต่อเนื่องในเรื่องข้อกำหนดของทางราชการที่ต้องการให้โรงเรือนเลี้ยงสุกรเป็นโรงเรือนระบบปิด อีกด้วย

5 สิ่งที่อย่าหาทำ

  • เลี้ยงหมูแบบเดิมๆ เลี้ยงหมูแบบเดิม โดยไม่ใจเรื่องของการฆ่าเชื้อ ให้คนเข้าออกฟาร์มโดยเสรี อาจทำให้เกิดปัญหาซ้ำซากในฟาร์มไม่รู้จบ อย่างที่พบในประเทศเพื่อนบ้านของเรา การเปลี่ยนการเลี้ยงสุกรเข้าสู่การเลี้ยงที่มีมาตรฐานสูงขึ้น ทำให้เรามีแนวโน้มจะได้ผลตอบแทนมากขึ้นตามไปด้วย
  • ละเลยเรื่องวัคซีนและการจัดการ หลายฟาร์มกลัวว่าการทำวัคซีน อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายโรคจากการใช้เข็ม ทั้งนี้เทคโนโลยีไร้เข็มอาจไม่ตอบโจทย์เรื่องของการทำวัคซีนทั้งหมด แต่เรายังคงต้องทำวัคซีนโรคระบาดและโรคประจำถิ่นของฟาร์มอย่างเหมาะสม รวมทั้งพิจารณาใช้ยาต้านจุลชีพเพื่อควบคุมการติดเชื้อ และ เน้นการจัดการลดความเครียด ก็จะสามารถทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ลดลงด้วย
  • เลี้ยงหมูป่วยต่อไปเรื่อยๆ ไม่ยอมคัดทิ้งทำลาย สุกรป่วยต้องรีบคัดทิ้งทำลาย การเลี้ยงสุกรป่วยต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในเล้า เป็นแหล่งแพร่เชื้อและกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิต และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อ ASF ทั้งนี้ในการกลับมาเลี้ยงใหม่ สุกรป่วยต้องรีบคัดแยกจากคอก และรีบตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ว่าใช่ ASF หรือไม่
  • ไม่เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย ยังเป็นคำพูดอมตะที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ เราจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และ เป็นระบบตามความเสี่ยง เพราะการเจอตัวป่วยเร็วทำให้เราเสียหายน้อย และ ไม่เกิดการแพร่ระบาดที่ควบคุมไม่ได้ เกษตรกรที่กลับมาเลี้ยงใหม่ต้องไม่ละเลย เฝ้าระวังความเสี่ยงของฟาร์มตนเอง
  • ให้มาจับหมูในเล้า เลี้ยงหมูมาจนจับแล้ว เราไม่ควรจะมาตายตอนจบโดยการให้คนจับหมูเข้ามาจับหมูในเล้าซึ่งเป็นความเสี่ยงในการเชื้อเข้าสู่ฟาร์ม ทั้งนี้ยิ่งฟาร์มมีระยะจับยาวยิ่งทำให้ให้โอกาสเกิดโรคในช่วงเวลาจับมากขึ้น

เลี้ยงสุกรใหม่หลังประสบปัญหา ASF ไม่ง่ายและไม่ยากจนเกินไป หากเราใส่ใจในรายละเอียด และ เปลี่ยนแปลงการทำงานและการจัดการให้มีความเสี่ยงลดลง เราก็จะสามารถเลี้ยงสุกรส่งตลาดได้ไม่มีปัญหา ASF มากวนใจซ้ำซาก