กันยายน 6, 2022

บอกลา…ปัญหาน้ำเสียในบ่อปลา

แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

เนื้อปลา ถือได้ว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีครับ ปัจจุบันจึงมีความต้องการบริโภคเนื้อปลาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีทำให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาของประเทศไทย เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก แต่การเลี้ยงปลา ในรูปแบบปัจจุบัน ที่มุ่งเน้น การเพิ่มผลผลิต ให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค ก็ต้องพบกับปัญหาต่างๆ ในระหว่างการเลี้ยงปลา เพิ่มมากขึ้น ด้วยเช่นกัน หนึ่งในปัญหา ที่คนเลี้ยงปลา มักมีคำถาม เสมอๆ คือ ของเสียในบ่อเลี้ยงปลา มาจากที่ไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร และส่งผลกระทบอย่างไรกับปลาที่เลี้ยง ของเสียในบ่อเลี้ยงปลา ส่วนใหญ่มีจุดเริ่มต้นจาก สารประกอบอินทรีย์ไนโตรเจน ที่ได้มาจากสิ่งขับถ่ายของปลา และอาหารที่ปลากินเหลือ ครับ ของเสียจะสะสมอยู่ที่บริเวณพื้นก้นบ่อเลี้ยงปลา และเปลี่ยนรูปจากสารปประกอบอินทรีย์ไนโตรเจน ไปอยู่ในรูปของก๊าซที่เป็นพิษต่อปลา ได้แก่ ก๊าซแอมโมเนีย ก๊าซไนไตรท์ ก๊าซมีเทน และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือที่เรามักเรียกกันว่าก๊าซไข่เน่า ถ้าในน้ำมีปริมาณแอมโมเนียสูง มากกว่า 1 ppm ปลาจะว่ายน้ำขึ้นมาหายใจ บริเวณผิวน้ำ บริเวณลำตัวปลา หรือครีบปลา จะเป็นรอยแดงครับ เหงือกปลา จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ เนื่องจากเลือดปลา ไม่มีการแลกเปลี่ยนอ๊อกซิเจน เช่นเดียวกันครับ ถ้าในน้ำมีปริมาณไนไตรท์สูง มากกว่า 1 ppm จะทำให้ปลา ป่วยด้วยโรค เลือดน้ำตาล (brown blood disease ) คือ อาการที่เลือดปลา ไม่สามารถนำอ๊อกซิเจนไปใช้ได้ อาการที่พบ คือ ปลาจะว่ายน้ำ ขึ้นมาหายใจบริเวณผิวน้ำ พร้อมๆกับ ขยับแผ่นปิดเหงือกถี่ขึ้น และเหงือกปลาจะเป็นสีน้ำตาลดำ

ในส่วน ความเป็นพิษ ของไฮโดรเจนซัลไฟด์ และมีเทน จะมีลักษณะที่คล้ายคลึง กับการขาดออกซิเจนของปลา ครับ แต่จะมีพิษรุนแรง มากกว่าการขาดออกซิเจนครับ ระดับความเข้มข้นของก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ และก๊าซมีเทนที่ระดับต่ำๆ ก็สามารถทำอันตรายให้กับปลา ที่อาศัยอยู่ บริเวณพื้นก้นบ่อเลี้ยงได้แล้ว ครับ อาการที่พบเช่น เหงือกปลา จะมีสีชมพู แดง หรือม่วง

หากในบ่อเลี้ยงปลา มีก๊าซพิษทั้ง 4 ตัวนี้ สะสมในปริมาณมาก และเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้

  1. ปลามีความอยากกิน อาหารลดลง
  2. ปลามีโอกาสติดเชื้อก่อโรค กลุ่มแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น
  3. เมื่อปลากินอาหารลดลง ปลาป่วยติดเชื้อก่อโรค ก็จะส่งผลทำให้ ปลามีอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำ ทำให้เกษตรกร ต้องใช้เวลา ในการเลี้ยงปลานานมากขึ้น
  4. และปลาที่เลี้ยงได้ มักมีความสามารถ ในการเปลี่ยนอาหาร เป็นเนื้อปลาได้ต่ำครับ ส่งผลให้ FCR เพิ่มสูงมากขึ้น
  5. กรณีรุนแรง ก๊าซพิษทั้ง 4 ตัวนี้อาจทำให้ปลาตายได้อย่างเฉียบฉพัน

แล้วกระบวนการเกิด การสะสมของเสียในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยทั่วๆไป พบได้ดังนี้ ครับ

  • ในกรณีที่ 1 ของเสียในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ตามปกติครับ ซึ่งจะเกิดขึ้นกับ การเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่มีการใช้อาหาร ที่ตรงกับความต้องการของชนิดสัตว์น้ำ มีสารอาหารครบถ้วนครับ และไม่ให้อาหารจนเหลือตกค้างครับ ตัวอย่างเช่น การเลี้ยงปลาสลิด ก็ควรใช้อาหารปลาสลิดเลี้ยง การเลี้ยงปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ก็ควรใช้อาหารปลาช่อนเลี้ยง หรือการเลี้ยงปลากะพงขาว ก็ควรใช้อาหารปลากะพงขาวเลี้ยง ครับ เพราะการใช้ อาหารที่ตรง กับความต้องการของชนิดปลา ปลาจะกินอาหารในปริมาณที่ไม่มาก ปลาก็จะได้รับสารอาหารและพลังงานที่ครบถ้วน เพียงพอ ต่อความต้องการ ในการดำรงชีวิต การสร้างภูมิคุ้มกันโรค และเพื่อการเจริญเติบโตครับ ส่งผลให้มีสิ่งขับถ่ายของสัตว์น้ำออกมาน้อย
  • ในกรณีที่ 2 ครับ ของเสียในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ จะเกิดการสะสมในปริมาณมาก อย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ เกิดขึ้นจาก การให้อาหารในปริมาณมากกว่าความต้องการของสัตว์น้ำ จนมีอาหารเหลือตกค้าง และการใช้อาหารที่ไม่ตรงกับชนิดสัตว์น้ำครับ ในที่นี้ ที่พบเห็นได้บ่อยๆก็คือ การใช้อาหารที่มีสารอาหารต่ำกว่าความต้องการของสัตว์น้ำ มาใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น การใช้อาหารปลากินพืช มาเลี้ยงปลานิลแดง การใช้อาหารปลาดุก มาเลี้ยงปลาช่อนซึ่งเป็นปลากินเนื้อ หรือการใช้ โครงไก่ ไส้ไก่ เศษขนมปัง มาเป็นอาหารปลา นอกจากนี้ ในอาหารดังกล่าวอาจมีส่วนประกอบบางอย่าง ที่ปลาไม่สามารถย่อย และดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ครับ ส่งผลทำให้มีสารประกอบอินทรีย์ไนโตรเจน เกิดการสะสมเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว ในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ

ในกรณีปลาป่วยติดเชื้อก่อโรค ต้องได้รับการรักษา

บ่อเลี้ยงปลา ที่มีของเสียสะสมที่อยู่ในรูปของก๊าซที่เป็นพิษ ในปริมาณมาก ปลาจะเครียด อ่อนแอ่ ติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้ง่ายครับ และเมื่อปลาป่วยติดเชื้อก่อโรค การรักษาด้วยการให้ยา เพียงอย่างเดียว อาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานครับ และการรักษาอาจไม่ดี เท่ากับ บ่อเลี้ยงปลา ที่สามารถควบคุม ปริมาณของเสียสะสม ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ได้ครับ ดังนั้นกรณี การรักษาโรคในปลา นอกจากการให้ยารักษาโรค ที่ตรงกับโรคนั้นๆแล้ว การปรับปรุง คุณภาพน้ำ ให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงมีความสำคัญ ด้วยเช่นกัน เพราะ

  • จะทำให้การรักษาโรคใช้ระยะเวลาสั้น และได้ผลชัดเจน
  • ผลผลิต เกิดความเสียหายน้อย

มาถึงตรงนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ปัญหาของเสียในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นเรื่องสำคัญ ที่ไม่ควรละเลย ซึ่งในวันนี้ผมจึงขอนำเสนอแนวทางการป้องกัน หรือแนวทางลดผลกระทบ จากปัญหาของเสียในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้วยหลัก 2 ลด คือ ลดการเกิด และลดการสะสม

ลดการเกิดของเสีย ทำได้โดย

  1. การปล่อยสัตว์น้ำในจำนวนที่เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ เทคโนโลยีการเลี้ยง หรือรูปแบบในการเลี้ยงสัตว์น้ำ ครับ เช่น การเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงปลาจากการเลี้ยงปลาบ่อขนาดใหญ่มากๆ 10-30 ไร่ ที่ต้องใช้น้ำมาก ทำให้การจัดการคุณภาพน้ำ การให้อากาศ การจัดการของเสียในระหว่างการเลี้ยงค่อนข้างทำได้ยาก มาเป็นการเลี้ยงปลาในบ่อขนาด 1-2 ไร่ มีระบบให้อากาศ หรือการเลี้ยงปลากระชัง ในบ่อดินแทน
  2. เลือกใช้อาหารให้ตรงกับชนิดสัตว์น้ำ และช่วงวัย เพราะสัตว์น้ำแต่ละชนิด แต่ละช่วงวัย มีความต้องการสารอาหารที่แตกต่างกัน ครับ เช่นปลาดุก เป็นปลาหนัง ปลานิล ปลาสลิค ปลาช่อน ปลากระพงเป็นปลามีเกล็ด อาหารที่ใช้เลี้ยงก็แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้แต่ละช่วงวัย ของปลาแต่ละชนิดก็ต้องการสารอาหารที่แตกต่างกันด้วย หากการใช้อาหารไม่เหมาะสมกับชนิดปลา และช่วงวัย อาจต้องใช้อาหารในปริมมากกว่าความต้องการจริงของปลา ทำให้มีของเสียสะสมเพิ่มขี้น
  3. ให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับช่วงวัย อัตราการเจริญเติบโต และไม่ให้อาหารจนเหลือตกค้างครับเพราะการใช้อาหารที่ตรงกับความต้องการของชนิดปลา ปลาจะกินอาหารในปริมาณที่ไม่มาก ปลาก็จะได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการ ในการดำรงชีวิต การสร้างภูมิคุ้มกันโรค และเพื่อการเจริญเติบโต ทำให้เกิดขึ้นเสียน้อย

ในส่วนการ ลดการสะสมของเสีย ทำได้โดย

  1. ตรวจวัดคุณภาพน้ำ ก่อนปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยง และในระหว่างการเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อควบคุมค่าความเป็นพิษของ แอมโมเนีย ไนไตรท์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และมีเทน ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ตลอดอายุการเลี้ยงสัตว์น้ำ
  2. ใส่จุลินทรีย์ เพื่อช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพในการย่อย สลายสารประกอบอินทรีย์ไนโตรเจนในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ อย่างสม่ำเสมอ
  3. เปิดเครื่องให้อากาศ ให้เหมาะสมกับปริมาณสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง การกินอาหารของสัตว์น้ำ และเหลือเพียงพอให้จุลินทรีย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ เป็นโปรแกรม เพื่อช่วยลดความเข้มข้น ของก๊าซพิษ ตลอดอายุการเลี้ยง
  5. มีการดูดของเสียออกจากบ่อเลี้ยงในระหว่างการเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอครับ
  6. มีการลดปริมาณอาหารลง ในกรณีที่ ก่อนหน้านี้ให้อาหารในปริมาณมาก เพราะต้องการเร่งไซส์ปลา หรือกรณีพบปลาป่วยติดเชื้อก่อโรค หรือน้ำในบ่อเลี้ยงมีค่าของเสียสะสมสูงเกิดค่ามาตราฐาน
  7. การสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม กับการทำงานของจุลินทรีย์ ในการช่วยย่อยสลายสารประกอบอินทรีย์ไนโตรเจน ( อ๊อกซิเจน,pH,อุณหภูมิ )
  8. หลังการจับสัตว์น้ำทุกครั้ง ควรนำของเสียออกจากบ่อเลี้ยง หรือควรทำการบำบัดของเสียให้เปลี่ยนไปเป็นปุ๋ย หรือเปลี่ยนไปเป็นสารอาหารของแพลงค์ตอน ของสัตว์หน้าดิน ก่อนปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในรุ่นถัดไป

สุดท้ายนี้อยากจะฝากไว้ว่า การจัดการเพื่อลดผลกระทบจาก …ของเสียสะสมในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เกิดขึ้นได้ตั้งแต่การเลือกรูปแบบการเลี้ยงสัตว์น้ำ อาหารสัตว์น้ำ เวชภัณฑ์สัตว์น้ำ ที่ดีตรงกับเป้าหมายการผลิต โดยมุ่งเน้นไปที่ระบบการป้องกัน และจัดการของเสียในระหว่างการเลี้ยง โดยเกษตรกรต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลี้ยงสัตว์น้ำ จาก แบบพึ่งพาธรรมชาติ มาเป็น Waste Management System ระบบการป้องกัน และจัดการของเสียในระหว่างการเลี้ยง