สิงหาคม 9, 2022

ความชื้นในอากาศสูงที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงไก่

แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

ความชื้น(Humidity) คือ น้ำที่มีสถานะเป็นแก๊ส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นลอยตัวอยู่ในอากาศปะปนรวมกับแก๊สต่างๆ เช่น  แก๊สไนโตรเจน แก๊สออกซิเจน แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น รวมถึงฝุ่นซึ่งมีสถานะเป็นของแข็งมีอนุภาคขนาดเล็กรวมอยู่ด้วย การวัดค่าปริมาณความชื้นในอากาศสำหรับการเลี้ยงไก่นิยมใช้ค่าความชื้นสัมพัทธ์(Relative humidity)เพื่อบ่งบอกปริมาณความชื้นที่มีอยู่ในพื้นที่เลี้ยงสัตว์

ค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่แนะนำสำหรับการเลี้ยงไก่ควรมีค่าอยู่ในช่วง 60–70% ในกรณีที่พื้นที่เลี้ยงไก่มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 50% จะส่งผลให้ไก่สูญเสียน้ำออกจากร่างกายผ่านการระเหยของน้ำในระบบทางเดินหายใจไปสู่อากาศ นอกจากนี้ความชื้นสัมพัทธ์ที่ต่ำยังส่งผลทำให้ในโรงเรือนมีปริมาณฝุ่นสูงขึ้นจากอากาศมีปริมาณไอน้ำน้อย ในทางตรงกันข้ามเมื่อความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 70% จะส่งผลทำให้ไก่ระบายความร้อนส่วนเกินออกจากร่างกายผ่านการระเหยของน้ำได้ยากขึ้น ทำให้ไก่เกิดภาวะความเครียดจากความร้อน (Heat street) เป็นสาเหตุทำให้ประสิทธิภาพการให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ความชื้นสัมพัทธ์สูงยังเป็นสาเหตุให้สิ่งปูรองเปียกชื้นในการเลี้ยงไก่แบบปล่อยพื้นอีกด้วย(Aviagen, 2018).

ผลกระทบของความชื้นต่อการเลี้ยงไก่ มีดังนี้

1. ภาวะเครียดจากความร้อนในไก่

(Heat stress)Heat stress คือ ภาวะที่ไก่ไม่สามารถรักษาสมดุลระหว่างความร้อนที่ร่างกายผลิตขึ้นจากกระบวนการต่างๆ กับความร้อนที่ไก่ระบายออกจากร่างกายได้จากปัจจัยร่วมต่างๆ เช่น ความชื้นในอากาศสูง เลี้ยงไก่หนาแน่น ความเร็วลมไม่เพียงพอ หรือไก่ป่วย เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการให้ผลผลิต เช่น อัตราการเจริญเติบโตลดลง  น้ำหนักไข่ลดลง คุณภาพเปลือกไข่แย่ลง และผลผลิตไข่ลดลง เป็นต้น นอกจากนี้ภาวะความเครียดจากความร้อนยังส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายไก่ทำงานผิดปกติ ถ้าปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขภายในเวลาเหมาะสม จะส่งผลทำให้อุณหภูมิร่างกายไก่สูงขึ้นเป็นสาเหตุทำให้ไก่ตายจากภาวะฮีทสโตรค ( heat stroke )

2. อัตราการป่วย และอัตราการตายสูงขึ้น

ภาวะ Heat stress ที่มีผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกายไก่เกิดการทำงานผิดปกติ เช่น ระบบฮอร์โมน ระบบภูมิคุ้มกันโรค และระบบสืบพันธุ์ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ สุขภาพสัตว์ที่แย่ลง ทำให้ไก่ป่วยได้ง่ายขึ้น(ศิขัณฑ์ พงษ์พิพัฒน์, 2012) ในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูงจะพบไก่ป่วยด้วยปัญหาจากระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น เช่น ทางเดินหายใจอักเสบ มีน้ำมูก มีเสียงหวัด ปัญหาไก่ถ่ายเหลว ท้องเสียติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

3. สิ่งปูรองเปียกชื้น และการสะสมของแก๊สแอมโมเนียสูงในพื้นที่เลี้ยงสัตว์

ในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูงจะโน้มนำทำให้สิ่งปูรองเปียกชื้น และทำให้ปริมาณแก๊สแอมโมเนียเพิ่มสูงขึ้นได้ (Czarick and Farichild, 2012). สำหรับโรงเรือนเลี้ยงไก่ในระบบกรงตับหรือพื้นสแลทที่ไม่มีสิ่งปูรองก็สามารถเกิดการสะสมของแก๊สแอมโมเนียได้เช่นเดียวกันจากมูลไก่ที่เปียกชื้นสะสมภายใต้กรงตับหรือพื้นสแลท

4. สภาพแวดล้อมเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของจุลชีพต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา เป็นต้น

ในสภาวะที่อากาศมีความชื้นสูง จะส่งผลทำให้จุลินทรีย์มีการเจริญเติบโตได้ดีกว่าสภาวะที่มีความชื้นในอากาศต่ำ เช่น เชื้อราจะมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่ระดับความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่ 50–100 % (Dannemiller K. C., et al., 2016)

5. ปัญหาสารพิษจากเชื้อรา

เชื้อราสามารถผลิตสารพิษได้ โดยสารพิษจากเชื้อรานั้นเมื่อไก่ได้รับสะสมถึงระดับปริมาณที่เพียงพอจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพไก่ ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของไก่ และอาจเป็นสาเหตุทำให้ไก่ตายได้ สารพิษจากเชื้อรานั้นมีหลายชนิดส่วนใหญ่สร้างจากเชื้อราในกลุ่มต่างๆดังนี้ แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) เพนนิซิเลียม (Penicillium) และฟูซาเรียม (Fusarium)  โดยสารพิษจากเชื้อรานั้นสามารถพบได้ทั้งในวัตถุดิบอาหารสัตว์ต่างๆ อาหารสัตว์สำเร็จรูป สิ่งปูรอง ฝุ่น ฟาง พืชสมุนไพร ผลไม้ และธัญพืช

6. ความผิดปกติของคุณภาพซากในไก่เนื้อ

ในฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อเมื่อพบปัญหาสิ่งปูรองเปียกชื้นแล้ว มักพบปัญหาที่ตามมาจากสถานการณ์ดังกล่าว คือ คุณภาพซากไก่ที่ส่งโรงฆ่าสัตว์มักพบปัญหาเรื่องคุณภาพซากไก่ผิดปกติ เช่น ผิวหนังอกอักเสบ(breast blisters) ข้อขาด้าน(hock burns) ฝ่าเท้าเป็นแผลหลุม(foot pad dermatitis) เพิ่มขึ้น