กันยายน 1, 2021

แนวทางในการลดปัญหาจากสภาพอากาศร้อนในไก่ไข่

แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

สัตวแพทย์ชำนาญการ บริการวิชาการสัตว์ปีก

ช่วงที่อุณหภูมิในสภาพแวดล้อมสูงเรามักจะพบว่ามีความชื้นสัมพัทธ์ที่สูงด้วยเช่นเดียวกันซึ่งพบได้เป็นปกติในช่วงฤดูร้อน ความเครียดจากความร้อนสามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อฝูงไก่ไข่โดยทำให้ไก่กินอาหารได้ลดลง ผลผลิตไข่ น้ำหนักไข่ คุณภาพเปลือกไข่ และความสูงไข่ขาวลดลง พบการตายทั้งจากสภาพอากาศร้อนและการจิกกันมากขึ้น ไก่ติดเชื้อหรือป่วยได้ง่ายขึ้นจากสภาวะกดภูมิคุ้มกันหากเครียดเนื่องจากกระทบสภาพอากาศร้อนเป็นระยะเวลานาน ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับอุณหภูมิสูงสุดที่ไก่ได้รับ ช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงนั้นดำเนินไป อัตราการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในแต่ละวัน รวมถึงความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ เมื่ออุณหภูมิสภาพแวดล้อมสูงไก่จะเริ่มมีการอ้าปากหอบหายใจที่เร็วขึ้นเพื่อเพิ่มการระเหยของน้ำจากทางเดินหายใจเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย แต่หากการหอบของไก่ไม่สามารถทำให้อุณหภูมิร่างกายคงที่ได้ไก่จะแสดงอาการหมดแรงและบางครั้งอาจหมดสติและตายลงได้เลยทีเดียว ซึ่งฝูงไก่ที่ไม่เคยชินกับอุณหภูมิสูง ๆ มาก่อนจะเกิดการสูญเสียของผลผลิตและตายมากที่สุด ดังนั้นการลดความเสียหายจากสภาพอากาศร้อนจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการเก็บรายละเอียดการจัดการต่าง ๆ ในหลาย ๆ ประเด็นดังนี้

  1. การจัดการระบบการให้น้ำ โดยปกติแล้วไก่จะกินน้ำเป็น 2 เท่าของอาหาร แต่หากอุณหภูมิสูงขึ้นไก่ก็จะกินน้ำเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นน้ำไก่กินต้องมีปริมาตรที่เหมาะสมต่อความต้องการของฝูงไก่ที่อยู่ในภาวะเครียดจากความร้อน มีอัตราการไหลที่แรงเพียงพอ (>70 ml/นาที สำหรับนิปเปิ้ล) มีอุปกรณ์ให้น้ำที่เพียงพอและสามารถใช้งานได้ ควรตรวจสอบระบบกรองน้ำและทำการเปลี่ยนหากจำเป็นเพราะการที่ระบบกรองน้ำอุดตันจะขัดขวางการไหลของน้ำกินที่เข้ามาใหม่ภายในโรงเรือน น้ำที่ไก่กินต้องมีอุณหภูมิที่เย็น (ไม่เกิน 25OC) โดยระบบให้น้ำและเก็บกักน้ำต้องสามารถรักษาอุณหภูมิความเย็นนั้นไว้ได้ ส่วนการเสริมวิตามินและเกลือแร่ในน้ำดื่ม เช่น วิตามินซี โซเดียม คลอไรด์ โพแทสเซียม และไบคาร์บอเนต เพื่อชดเชยที่ไก่สูญเสียไปกับปัสสาวะและการหอบก็จะทำให้ไก่ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ถังเก็บน้ำกินที่ถูกแสงแดดทำให้น้ำกินมีอุณหภูมิสูงไม่เอื้อต่อการกินน้ำของไก่ในช่วงอากาศร้อน

  1. การจัดการอาหาร ให้ติดตามการกินอาหารของฝูงไก่ในช่วงที่อากาศร้อนอย่างใกล้ชิด อาจต้องมีการปรับสมดุลย์ของสารอาหารที่สำคัญ ๆ เช่น กรดอะมิโน แคลเซียม โซเดียม และฟอสฟอรัส เพื่อให้ไก่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ใช้วัตถุดิบที่สามารถย่อยและดูดซึมได้สูง รวมถึงเพิ่มสัดส่วนของพลังงานที่มาจากไขมันซึ่งสามารถย่อยได้สูงแทนการได้รับพลังงานจากแป้งและโปรตีนจะช่วยลดการสร้างความร้อนภายในร่างกายที่เกิดขึ้นจากการย่อยอาหารได้ อาจพิจารณาเปลี่ยนขนาดอนุภาคของอาหาร เช่น การให้อาหารแบบขบเม็ดโดยอาหารแบบขบเม็ดสำหรับฝูงไก่ไข่นั้นควรมีการเสริมหินเกล็ดที่อนุภาคใหญ่เข้าไปด้วย รวมถึงเพิ่มให้มีการให้กินอาหารช่วงเที่ยงคืนเป็นเวลา 1 – 2 ชั่วโมงเพื่อให้กินอาหารเพิ่มขึ้นในช่วงที่อากาศเย็นเวลากลางคืน นอกจากนี้ยังพบว่าการผสมโพแทสเซียมคลอไรด์ แอมโมเนียมคลอไรด์ หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต (2-3 kg/ตันอาหาร) สามารถชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียไปในช่วงที่ไก่เครียดจากความร้อนและส่งเสริมให้มีการกินน้ำเพิ่มขึ้นด้วย พบว่าให้ผลดีในการลดการตายในฝูงที่กระทบความเครียดจากความร้อนแบบเฉียบพลันได้ และสามารถเสริมวิตามิน C ในอาหารที่ระดับ 200 – 300 mg/kg ได้เพื่อช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยง
  2. การจัดการระบายอากาศ เพื่อเลี่ยงการรบกวนไก่ในช่วงที่อากาศร้อนที่สุดของวัน (ช่วงกลางวันและช่วงเย็น) เราควรปรับแผนการทำงานให้เน้นมาทำงานในช่วงเช้ามืดหรือช่วงกลางคืนแทน ปรับตัวควบคุมการทำงานของพัดลมตามอุณหภูมิโดยพัดลมทุกตัวทำงานอย่างต่อเนื่องในช่วงกลางคืนและช่วงเช้ามืดเพื่อทำให้โรงเรือนเย็นลงให้มากที่สุดในช่วงกลางคืนอันจะส่งผลให้เกิดช่วงเวลาที่มีระดับอุณหภูมิปานกลางยาวนานมากขึ้นในเช้าวันต่อมา เพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศในโรงเรือนโดยต้องมั่นใจว่าความเร็วลมที่ไม่ควรต่ำกว่า 2.0 เมตร/วินาทีในพื้นที่ที่ไก่อยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งไก่ที่เลี้ยงแบบยืนกรงซึ่งต้องการความเร็วลมในการนำอุณหภูมิออกจากภายในกรงตรงจุดที่พวกมันอยู่เป็นอย่างมาก ซึ่งฟาร์มเองต้องไม่เลี้ยงไก่ในกรงแน่นจนเกินไป (พื้นที่การเลี้ยงไม่ควรต่ำกว่า 450 ตารางเซนติเมตร/ตัว) เพราะกรงที่เลี้ยงหนาแน่นจะทำให้อากาศผ่านระหว่างตัวไก่ได้น้อยกว่า ลดประสิทธิภาพของการระบายอากาศ และเพิ่มปริมาณความร้อนภายในโรงเรือนอีกด้วย นอกจากนี้ควรตรวจสอบระบบระบายอากาศเพื่อให้แน่ใจว่ามีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงที่สภาพอากาศร้อน เช่น ทำความสะอาดและทำให้การทำงานของชัตเตอร์พัดลมสมบูรณ์ สายพานพัดลมควรอยู่ในสภาพที่ตึงหรือควรเปลี่ยนเพื่อหลีกเลี่ยงการเคลื่อนตัวหรือฉีกขาดในช่วงที่อุณหภูมิสูง ช่องลมเข้าควรอยู่ในสภาพที่สะอาดและปราศจากสิ่งที่อาจไปขัดขวางการพัดเข้ามาของอากาศ ควรตรวจสอบเครื่องควบคุมอุณหภูมิให้มีความเที่ยงตรง ระบบจ่ายไฟสำรองต้องถูกติดตั้งในกรณีที่ไฟดับในช่วงสภาพอากาศร้อน ในส่วนของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบการทำความเย็นแบบระเหยน้ำ เช่น แผ่นรังผึ้งควรอยู่ในสภาพที่สะอาดหรือทำการเปลี่ยนหากมีสภาพอุดตัน การไหลของน้ำมายังแผ่นรังผึ้งควรมีความสม่ำเสมอไม่พบบริเวณที่แห้งเนื่องจากอากาศมักชอบที่จะผ่านเข้ามาทางพื้นที่ ๆ แห้งเพราะมีแรงต้านทานน้อย ทำความสะอาดใยแมงมุมและฝุ่นออกจากพื้นที่อากาศเข้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การระบายอากาศภายในโรงเรือนดีขึ้น นำมูลไก่ออกจากโรงเรือนก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนเนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงที่นำมูลไก่ออกมีส่วนสนับสนุนให้ความร้อนภายในโรงเรือนเพิ่มขึ้น การพบว่ามีมูลไก่สะสมอยู่ในปริมาณมาก ๆ ในโรงเรือนที่พื้นเตี้ยหรือใต้กรงตับจะไปขัดขวางการเคลื่อนที่ของอากาศ ฉนวนกันความร้อนบนหลังคามีส่วนช่วยลดการแผ่รังสีและการนำความร้อนจากแสงอาทิตย์ผ่านมายังหลังคาเข้ามาในโรงเรือนได้

แผ่นรังผึ้งที่เปียกไม่ทั่วทำให้อากาศร้อนจากภายนอกผ่านเข้ามาในโรงเรือนได้โดยตรง

ช่องลมเข้าที่อุดตันจะขัดขวางการทำงานของพัดลมและลดการเคลื่อนที่ของอากาศ

  1. การจัดการสุขภาพ โดยการปรับปริมาตรน้ำที่ใช้สำหรับการให้ยาหรือวัคซีนแบบละลายน้ำให้สัมพันธ์กับความต้องการน้ำที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงอากาศร้อน ไก่ควรกินวัคซีนละลายน้ำให้หมดภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมงเพราะวัคซีนอาจเสื่อมสภาพหากสัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นและจะเป็นการดีที่สุดหากให้วัคซีนแก่ฝูงไก่ทันทีหลังจากที่ไฟเปิดในตอนเช้า ระมัดระวังในขณะให้วัคซีนโดยวิธีการสเปรย์ช่วงที่สภาพอากาศร้อนเนื่องจากอาจเกิดการแพ้วัคซีนนิวคาสเซิลและหลอดลมอักเสบขึ้นได้จากการที่ไก่หายใจถี่จากความร้อน และหากเป็นไปได้ควรชะลอการให้วัคซีนในช่วงที่เราทราบว่าไก่จะกระทบความเครียดจากสภาพอากาศร้อนออกไปก่อนเพราะไก่ที่เครียดจะมีการทำงานของภูมิคุ้มกันลดลงและอาจตอบสนองต่อการให้วัคซีนที่ไม่ดีนัก

ท้ายที่สุดนี้กุญแจสำคัญในการลดผลกระทบของความเครียดจากความร้อนในไก่ไข่ให้เหลือน้อยที่สุดคือการคาดการณ์ช่วงเวลาที่อุณหภูมิจะสูงขึ้นและนำวิธีการจัดการและมาตรการต่าง ๆ ที่เหมาะสมเข้ามาประยุกต์ใช้ก่อนที่อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นก็จะเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนที่จะเกิดขึ้นได้ดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

 

โดย น.สพ.นรชิต น้อยประเสริฐ