กันยายน 1, 2021

การจัดการน้ำในฟาร์ม (สัตว์ปีก)

แนวทางป้องกันและควบคุมโรค

น้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดทุกสายพันธุ์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกมีการใช้น้ำทั้งในการอุปโภคและบริโภคของสัตว์ ในร่างกายของสัตว์ปีกมีน้ำเป็นองค์ประกอบประมาณ 70% ส่วนในไข่ไก่ก็มีน้ำเป็นองค์ประกอบถึงประมาณ 65% ปริมาณการกินน้ำของไก่ไข่เฉลี่ยต่อวันประมาณ 2 – 2.5 เท่าของน้ำหนักอาหารที่ไก่ไข่กินต่อวันในสภาพอากาศปกติ แต่ปริมาณการกินน้ำของไก่ไข่อาจเพิ่มเป็น 4 เท่าในสภาพอากาศร้อน การเลี้ยงสัตว์ปีกเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันจะเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนระบบปิดหรือที่นิยมเรียกสั้นๆว่า “โรงเรือนอีแวป” ควบคุมอุณหภูมิในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ด้วยระบบการระเหยของน้ำจากแผ่นทำความเย็น (cooling pad)ร่วมกับการระบายอากาศแบบอุโมงค์ลม (tunnel ventilation) ทำให้มีปริมาณการใช้น้ำในแต่ละวันเป็นปริมาณมาก น้ำมีความสำคัญต่อการเลี้ยงสัตว์ปีกเป็นอย่างมากแต่ในทางตรงกันข้ามการจัดการระบบน้ำในฟาร์มมักถูกมองข้ามหรือเอาใจใส่ในรายละเอียดน้อย จนบ่อยครั้งเกิดผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์ ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพและปริมาณลดต่ำลงนอกจากควรมีปริมาณเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคในฟาร์มแล้วควรมีการตรวจคุณภาพน้ำเพื่อให้ทราบว่าน้ำที่ใช้มีคุณภาพดีหรือไม่ มีสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพสัตว์หรือทำลายโครงสร้างต่างๆในฟาร์มปนเปื้อนเป็นสาเหตุทำให้เกิดผลกระทบในทางที่ไม่ดีต่อสุขภาพสัตว์และโครงสร้างโรงเรือนเช่นไร ดังนั้นการเลือกแหล่งน้ำใช้ที่ดีร่วมกับการกรองน้ำให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานก่อนนำมาใช้จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สัตว์ปีกมีสุขภาพที่ดี ให้ผลผลิตได้ตามมาตรฐานมีคุณภาพที่ดี รวมถึงโครงสร้างโรงเรือนและอุปกรณ์ต่างๆในฟาร์มมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ช่วยลดต้นทุนฟาร์มในระยะยาวได้

แหล่งน้ำใช้สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้แก่ น้ำผิวดินทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อการใช้สอย และน้ำใต้ดิน เช่น น้ำบาดาล เป็นต้น โดยแหล่งน้ำดังกล่าวเป็นน้ำดิบที่ยังไม่ผ่านกระบวนการกรองเพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพดีสำหรับการอุปโภคและบริโภค นอกจากนี้บางฟาร์มอาจเลือกใช้น้ำประปาซึ่งเป็นน้ำที่ผ่านกระบวนการกรองและฆ่าเชื้อแล้ว มีการตรวจสอบ วิเคราะห์และควบคุมคุณภาพให้ได้น้ำดีมีคุณภาพตามมาตรฐานน้ำประปา สามารถใช้ในการบริโภคสำหรับสัตว์ปีกได้แต่มีต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ฟาร์มส่วนใหญ่มักเลือกใช้น้ำดิบในการอุปโภคและบริโภคเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยน้ำดิบควรมีการเก็บเพื่อตรวจสอบคุณภาพทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ ตรวจหาสิ่งปนเปื้อนต่างๆ เพื่อนำไปพิจารณาเลือกใช้วิธีการกรองให้เหมาะสมกับคุณภาพน้ำจากแหล่งน้ำที่ฟาร์มเลือกใช้ต่อไป นอกจากการเลือกแหล่งน้ำและวิธีการกรองน้ำแล้ว ควรให้ความสำคัญต่อความสะอาดของอุปกรณ์สำรองน้ำและระบบท่อน้ำ เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆมักเกิดการสะสมของเชื้อโรคโดยเฉพาะปัญหาเรื่องไบโอฟิล์มที่เป็นแหล่งที่อยู่ของจุลินทรีย์หลากหลายชนิดทำให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำที่ผ่านการกรองและฆ่าเชื้อโรคได้

ประโยชน์ของน้ำต่อฟาร์มสัตว์ปีก

  1. ใช้เพื่อลดความร้อนในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เช่น ระบบโรงเรือนอีแวป ระบบสเปร์ยน้ำบนหลังคา
  2. ใช้ในระบบสุขาภิบาลฟาร์ม และระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น โรงสเปร์ยฆ่าเชื้อ เป็นต้น
  3. ใช้สำหรับการบริโภคในสัตว์ปีก น้ำช่วยในการเคลื่อนตัวของอาหารในทางเดินอาหาร ช่วยย่อยและดูดซึมสารอาหาร ช่วยการทำงานของระบบเอนไซม์และปฏิกิริยาทางเคมีในร่างกายสัตว์ ลดอุณหภูมิส่วนเกินของสัตว์ และยังช่วยขับของเสียออกจากร่างกายสัตว์ได้อีกด้วย
  4. ปริมาณการกินน้ำเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการประเมินประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์ได้

ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณการใช้น้ำ

  1. อายุสัตว์ เมื่อสัตว์ปีกมีอายุมากขึ้นปริมาณการกินน้ำจะเพิ่มขึ้น
  2. อุณหภูมิสิ่งแวดล้อม เมื่ออุณหภูมิสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น จะทำให้ปริมาณการกินน้ำเพิ่มขึ้น
  3. อุณหภูมิของน้ำ เมื่ออุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น จะทำให้ปริมาณการกินน้ำลดลง
  4. ปริมาณแร่ธาตุและอิเล็คโทรไลท์ ในสภาพอากาศร้อนสัตว์ปีกจะเกิดความเครียดจากความร้อน(Heat stress) การใช้สารเสริมจำพวกอิเล็คโทรไลท์จะช่วยเพิ่มการกินน้ำ ชดเชยการสูญเสียน้ำและลดอัตราการตายของสัตว์ปีกได้
  5. โปรแกรมแสงสว่าง เมื่อแสงสว่างไม่เพียงพอสำหรับการมองเห็น จะทำให้สัตว์ปีกลดการแสดงกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการกินน้ำด้วย

เคล็ดลับในการจัดการน้ำในฟาร์ม

  1. ในแต่ละพื้นที่มีคุณภาพน้ำแตกต่างกัน ขึ้นกับ ตำแหน่งที่ตั้งฟาร์ม แหล่งน้ำดิบ ฤดูกาล ดังนั้นควรหมั่นตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากคุณภาพน้ำสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แล้วเลือกวิธีการกรองและฆ่าเชื้อในน้ำให้เหมาะสมในแต่ละฟาร์ม
  2. หมั่นตรวจสอบระบบสำรองน้ำและท่อน้ำ วางโปรแกรมการล้างทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงระหว่างเลี้ยงสัตว์สามารถทำความสะอาดท่อน้ำด้วยการใช้น้ำแรงดันสูง เพื่อลดปัญหาการสะสมของไบโอฟิล์มในท่อน้ำได้
  3. วางแผนตรวจสอบประสิทธิภาพระบบกรองและฆ่าเชื้อในน้ำเป็นประจำ เปลี่ยนไส้กรองน้ำเมื่อครบกำหนดหรือเมื่อประสิทธิภาพการกรองลดต่ำลงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำดิบของแต่ละฟาร์ม

 

เรียบเรียงโดย น.สพ.นรภัทร จริยา