พฤษภาคม 8, 2023

ความจำเป็นของโพรไบโอติกในการเลี้ยงสัตว์น้ำ

Knowledge ความรู้ทั่วไป

ในวันนี้เราจะมาคุยกันเรื่อง “ความจำเป็นของโพรไบโอติกในการเลี้ยงสัตว์น้ำ” อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก การปรับสภาพการเลี้ยงให้เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เลี้ยงแบบหนาแน่นอยู่ในความสนใจอย่างต่อเนื่อง และโพรไบโอติกได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นปัจจัยที่มีผลในการเพิ่มการผลิตปลาโดยการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันและลดการใช้ยาปฏิชีวนะ

  • ประโยชน์ของโพรไบโอติกในการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้อาหาร
  • ประโยชน์ของโพรไบโอติกในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ
  • ประโยชน์ของโพรไบโอติกเพื่อการบำบัดขี้เลนในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
  • ประโยชน์ของโพรไบโอติกเพื่อการส่งเสริมด้านสุขภาพปลาและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ปัจจุบันมีความพยายามในการจัดการและดำเนินการหลากหลายประการที่ช่วยให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเพาะเลี้ยงแบบพัฒนาและการจัดการที่ไม่เหมาะสมจะทำให้แหล่งน้ำที่รองรับน้ำเสียจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีคุณภาพเสื่อมโทรมและมีการสะสมเชื้อก่อโรค รวมทั้งสารพิษชนิดต่างๆ และขี้เลนที่สะสมจากการเพาะเลี้ยงแบบพัฒนา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากการเพาะเลี้ยงครั้งต่อไปจำเป็นต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่รอบฟาร์มเพาะเลี้ยง ดังนั้นการใช้โพรไบโอติกจะช่วยให้คุณภาพน้ำและคุณภาพของพื้นบ่อในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดีขึ้นด้วยการเพิ่มกระบวนการการย่อยสลายสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์อย่างสมบูรณ์ (Mineralization)ยกตัวอย่างเช่นโพรไบโอติกจะช่วยย่อยสลายสิ่งขับถ่ายเศษอาหารที่หลงเหลือในบ่อเพาะเลี้ยง รวมถึงแอมโมเนียไนไทรต์และไฮโดรเจนซัลไฟด์ซึ่งเป็นสารประกอบที่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำให้กลายเป็นน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้การสะสมของสารอินทรีย์และของเสียอื่นๆ ในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลดลง นอกจากนั้นการใช้โพรไบโอติกยังนิยมใช้เพื่อยับยั้งเชื้อก่อโรค กระตุ้นภูมิคุ้มกันของสัตว์น้ำ ทำให้เกิดสมดุลในระบบทางเดินอาหารและช่วยย่อยสารอาหารขนาดใหญ่ให้เป็นสารอาหารขนาดเล็ก รวมทั้งลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  โพรไบโอติกที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มปริมาณแบคทีเรียแลคติกในลำไส้และยับยั้งกิจกรรมของแบคทีเรียก่อโรคในสำไส้สิ่งมีชีวิตและสารเคมีที่มีผลต่อสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ส่วนความหมายของโพรไบโอติกในเชิงการเลี้ยงสัตว์น้ำหมายถึง จุลินทรีย์โดยเฉพาะแบคทีเรียหรือผลผลิตจากแบคทีเรียที่เดิมเข้าไปในระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำแล้วไปมีผลช่วยให้สัตว์ดังกล่าวมีสุขภาพดีขึ้นรวมถึงการใช้จุลินทรีย์ในการฟื้นฟูสภาพด้วยวิธีทางชีวภาพหรือการเติมสารอาหารเพื่อการฟื้นฟูสภาพ(Bioaug- mentation)ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยลดการสะสมของเสียและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นโพรไบโอติก ยกตัวอย่างเช่น Lactobacillus, Bacillus, Bifidobacterium, E. coli,Clostridium botyricum, Enterococcus, Streptococcus และยีสต์

ประโยชน์ของโพรไบโอติกในการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้อาหาร

เมื่ออาหารที่ปลากินมีส่วนประกอบที่ซับซ้อนมากขึ้น สภาพแวดล้อมที่ปลาอาศัยอยู่แย่ลง หรือปลามีอายุมากขึ้น กลไกลการย่อยและดูดซึมสารอาหารภายในร่างกายปลาตามธรรมชาติอาจไม่สมดุลย์ หรือไม่พอเพียงในย่อยและการดูดซึมสารอาหารอีกต่อไป

โพรไบโอติกที่นำมาเติมในอาหารสัตว์น้ำจะทำหน้าที่ในการช่วยย่อยสารอาหารขนาดใหญ่ให้เป็นสารอาหารขนาดเล็ก โดยโพรไบโอติกจะหลั่งเอนไซม์ออกมาจากเซลล์ เช่น อะไมเลส โปรติเอส และไลเปส ที่ช่วยย่อยสลายคาร์โบไฮเดรต  โปรตีน และไขมันตามลำดับ ซึ่งมีโครงสร้างที่ซับซ้อนให้ได้หน่วยที่เล็กลง เช่น กรดอินทรีย์ กรดไขมัน แอลกอฮอล์ เอสเทอร์ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทนและไฮโดรเจนซัลไฟด์

ประโยชน์ของโพไบโอติกในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ

การใช้โพรไบโอติกในการปรับปรุงคุณภาพน้ำจะช่วยให้ การย่อยสลายสารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ เศษอาหารและขี้ปลามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  อีกทั้งยังช่วยย่อยสลายแอมโมเนียและไนไทรต์ซึ่งเป็นสารประกอบไนโตรเจนที่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำ  ส่งผลให้คุณภาพน้ำมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ สัตว์น้ำมีสุขภาพแข็งแรงและมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น

ประโยชน์ของโพรไบโอติกเพื่อการบำบัดขี้เลนในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

โพรไบโอติกนอกจากจะใช้เพื่อบำบัดคุณภาพน้ำแล้วยังสามารถนำมาใช้ในการบำบัดขี้เลนในบ่อเพาะเลี้ยงได้ จากการศึกษาเปรียบเทียบการบำบัดขี้เลนจากบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยการเติมแบคทีเรียโพรไบโอติกกับวิธีการตากแดด โรยปูนขาวและพลิกเลน พบว่า การเติมแบคทีเรียโพรไบโอติกร่วมกับการตากแดดและพลิกเลน สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับการบำบัดด้วยวิธีการอื่น รวมทั้งยังสามารถปรับค่าพีเอชและปริมาณสารอินทรีย์ ให้เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้อีกด้วย

ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกหลากหลายชนิดที่จำหน่ายในประเทศไทย แต่พบว่ามีข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกเหล่านั้น เนื่องจากพบว่ามีประสิทธิภาพที่ไม่คงที่เหมือนกับสารเคมีหรือยาปฏิชีวนะ ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ไม่คงที่ตลอดอายุการใช้งาน  ดังนั้นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ โพรไบโอติกลดลง คือ ธรรมชาติของจุลินทรีย์จะมีอายุขัยสั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปของน้ำ แต่อย่างไรก็ตามโพรไบโอติกที่อยู่ในรูปแบบแห้งก็ยังคงมีอายุขัยที่ค่อนข้างสั้นเช่นเดียวกัน เมื่อผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกวางจำหน่ายนานขึ้น ปริมาณจุลินทรีย์ก็จะลดลงตามระยะเวลาที่รอการจำหน่าย ดังนั้นเมื่อลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ที่เพิ่งวางจำหน่ายเพียงไม่กี่เดือนก็จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณและชนิดของจุลินทรีย์ รวมทั้งประสิทธิภาพของโพรไบโอติกลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ใหม่นั่นเอง

ประโยชน์ของโพรไบโอติกเพื่อการส่งเสริมด้านสุขภาพปลาและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

โพรไบโอติกกลุ่มที่นำมาเติมในอาหารสัตว์น้ำนั้นจะมีหน้าที่ในการช่วยยับยั้งเชื้อก่อโรคและกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แก่สัตว์น้ำด้วยกระบวนการดังต่อไปนี้ คือ โพรไบโอติกมีกลไกในการยับยั้งเชื้อก่อโรคและลดระยะเวลาการเกิดโรคด้วยกลไกต่างๆขึ้นอยู่กับชนิดของโพรไบโอติก ยกตัวอย่างเช่น แบคทีเรียโพรไบโอติกกลุ่ม Bacillus สามารถลดปริมาณแบคทีเรียกลุ่มวิบริโอในทางเดินอาหารของกุ้งกุลาดำได้ และโพรไบโอติกกลุ่ม Lactobacillus ที่ผสมในอาหารกุ้งก้ามกรามสามารถลดปริมาณแบคทีเรียแกรมลบในทางเดินอาหารกุ้งก้ามกรามได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ พบว่าแบคทีเรียทางทะเลสายพันธุ์ Pseudomonas I-2 สามารถ ผลิตสารยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคกลุ่มวิบริโอในกุ้งได้ การยับยั้ง แบคทีเรียก่อโรคของโพรไบโอติกเป็นผลมาจากกลไกการทำลายแบคที่เรียก่อโรค โดยการแข่งขันแย่งสารอาหารและหลั่งเอนไซม์ ที่สามารถย่อยเมือกที่ล้อมรอบเซลล์แบคทีเรียแกรมลบก่อโรค ทำให้สารปฏิชีวนะที่โพรไบโอติกสร้างขึ้นเข้าทำลายองค์ประกอบของเซลล์ ส่งผลให้แบคทีเรียก่อโรคหยุดการเจริญและถูกทำลายในที่สุด แลพบว่าแบคทีเรียโพรไบโอติกบางชนิดยังมีคุณสมบัติในการต่อต้านไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคในสัตว์น้ำ เช่น hematopoietic necrosis virus (IHNV). Infectious และ Oncorhynchus masou virus (OMV)