Articles
ความสำคัญของการพัฒนากระเพาะรูเมน และการหย่านม
แนวทางป้องกันและควบคุมโรคการพัฒนาของกระเพาะรูเมน (Rumen) ในลูกโคก่อนหย่านมนั้นเริ่มต้นด้วยการได้รับอาหารข้นแรกเริ่ม (Starter) ที่ดีรวมทั้งการได้รับน้ำในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารที่จะช่วยย่อยทำให้เกิดการผลิตของกรดไขมันระเหย (Volatile Fatty Acid) ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพาพิล่าร์ (Papillae) ที่ช่วยในการดูดซึมสารอาหารในกระเพาะรูเมน (Rumen) โดยเฉพาะกลุ่มของกรดไขมันระเหย (Volatile Fatty Acid) คือ อะซิเตต (Acetate) โพรพิโอเนต (Propionate) บิวทิเรต (Butyrate) โดยที่โพรพิโอเนต (Propionate) บิวทิเรต (Butyrate) ได้รับจากการหมักย่อยแป้งและน้ำตาล ส่วนอะซิเตต (Acetate) ได้จากการหมักย่อยของเยื่อใย (Fiber) หรือ เซลลูโลส ซึ่งกลุ่มของกรดไขมันระเหย (Volatile Fatty Acid) มีฤทธิ์ในการกระตุ้นต่อพาพิล่าร์ (Papillae) ให้เกิดการพัฒนาหน้าที่ในการดูดซึมภายในกระเพาะรูเมน (Rumen) โดยเกิดจากการกระตุ้นจาก บิวทิเรต (Butyrate) โพรพิโอเนต (Propionate) อะซิเตต (Acetate) จากมากไปหาน้อยตามลำดับ ฉะนั้นการหมักย่อยของคาร์โบไฮเดรตจึงเป็นส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในกระเพาะและการพัฒนาของพาพิล่าร์ (Papillae) โดยการเขริญเพิ่มขึ้นของขนาดกระเพาะรูเมน (Rumen) โดยไม่คำนึงถึงอาหารที่ได้รับแต่การพัฒนาของพาพิล่าร์ (Papillae) หรือหน้าที่การทำงานของกระเพาะรูเมน (Rumen) ต่างหากที่ขึ้นกับอาหารที่ได้รับ จากรูปที่ 1 กระเพาะของลูกโคอายุ 6 สัปดาห์ที่ได้รับอาหารต่างกันในช่วงก่อนหย่านมจะเห็นการเจริญเติบโตและพัฒนาของพาพิล่าร์ (Papillae) ได้ชัดในลูกโคที่ได้รับนมและอาหารข้นซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการดูดซึมสารอาหาร
อาหารข้นแรกเริ่มสำหรับลูกโคในช่วงก่อนหย่านมนั้นมีสองส่วนที่สำคัญคือ
- เป็นแหล่งของโปรตีน พลังงาน วิตามินแร่ธาตุ ที่ย่อยในทางเดินอาหารและกระเพาะรูเมน (Rumen) โดยจะย่อยได้ดีที่สุดในช่วงอายุ 2-3 สัปดาห์
- การหมักย่อยของอาหารข้นแรกเริ่มในกระเพาะรูเมน (Rumen) จะช่วยให้การพัฒนากระเพาะรูเมน (Rumen) ได้ดียิ่งขึ้นด้วยจะได้เป็นผลผลิตของกลุ่มกรดไขมันระเหย (Volatile Fatty Acid) ที่จะกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักเมื่ออยู่ในช่วงโตเต็มวัย โดยเน้นย้ำในเรื่องการหมักที่ดีจำเป็นต้องได้รับอาหารข้นที่ดีและน้ำอย่างเพียงพอตลอดทั้งวันตามความต้องการยิ่งกินน้ำได้เยอะเท่าไหร่ยิ่งทำให้กินอาหารข้นแรกเริ่มได้เพิ่มขึ้นด้วย
อาหารข้นแรกเริ่มสำหรับลูกโคแรกเกิดจนถึงหย่านมควรมีความน่ากินสูงและคุณค่าทางโภชนศาสตร์ครบถ้วนโดยเฉพาะโปรตีนควรมีมากกว่า 18% ขนาดชิ้นที่เหมาะสม ส่วนอาหารหยาบในช่วงโคแรกเกิดจนถึงหย่านมก็ให้สารอาหารประเภทเยื่อใยและโปรตีนแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเจริญและพัฒนาของพาพิล่าร์ (Papillae) การได้รับอาหารหยาบทั้งปริมาณและในช่วงอายุก่อนหย่านมที่ไม่เหมาะสมจะไปทดแทนที่ว่างที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ภายในกระเพาะรูเมน (Rumen) ทำให้ลดการกินได้ของอาหารข้นแรกเริ่มสำหรับลูกโค การให้อาหารหยาบสำหรับลูกโคควรให้ที่อายุมากกว่า 2 เดือน จำกัดปริมาณการให้ไม่เกิน 200-250 กรัม/ตัว/วัน ควรเริ่มให้หลังจากเริ่มย้ายลูกโคจากเลี้ยงแบบแยกเดี่ยวไปเป็นเลี้ยงแบบรวมกลุ่มภายหลัง 1 สัปดาห์ซึ่งการย่อยได้ของอาหาร หยาบอาจใช้เวลาถึงสามสัปดาห์ขึ้นกับการทำงานของกระเพาะรูเมน (Rumen)
การหย่านมต้องเข้าเกณฑ์ด้วยกันทั้งหมด 3 ข้อ
- น้ำหนักตัวเป็นอย่างน้อยสองเท่าของน้ำหนักตัวแรกเกิดที่อายุ 56 วัน
- อายุ 2-3 เดือน
- การกินได้ของอาหารข้นแรกเริ่ม 1-2 กก./ตัว/วัน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 วัน
ก่อนหย่านมลูกโคควรกินอาหารข้นแรกเริ่มได้อย่างน้อย 1-2 กก./ตัว/วัน ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน รวมทั้งค่อยๆปรับลดการให้น้ำนมลงเหลือวันละ 1 ครั้งในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนหย่านมซึ่งสวนทางกับการได้รับอาหารข้นแรกเริ่มที่ต้องเพิ่มปริมาณเป็นสองเท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
รายละเอียดอื่นๆในการเตรียมลูกโคก่อนหย่านมสามารถให้อาหารข้นแรกเริ่มสำหรับลูกโคแรกเกิดที่อายุ 5 วันได้เลยโดยเริ่มให้ในปริมาณน้อยก่อนราวๆ 50-100 กรัม/ตัว/วัน ทำความสะอาดภาชะใส่อาหารและน้ำอย่างสม่ำเสมอ น้ำดื่มต้องได้รับอย่างเพียงพอและเข้าถึงได้ทุกเมื่อ เมื่อทำการหย่านมแล้ว 1 สัปดาห์จึงค่อยนำลูกโคเข้าเลี้ยงแบบรวมกลุ่ม กลุ่มควรจำกัดจำนวนลูกโคหลังหย่านมไม่เกินกลุ่มละ 8 ตัว และให้ได้รับอาหารข้นอย่างเพียงพอและกินได้ตลอดเช่นเดียวกับน้ำด้วย อาหารหยาบควรให้ภายหลังจากการย้ายไปร่วมกลุ่มแล้ว 1 สัปดาห์และจำกัดปริมาณการให้อยู่ที่ 250-500 กรัม/ตัว/วัน