Articles
ยาฉีดใช้อย่างไร ให้ปลอดภัยคุ้มทุน
แนวทางป้องกันและควบคุมโรคการเข้ามาแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์ แอฟริกา ใน สุกร อาจทำให้เราให้ความสำคัญกับเรื่องบางเรื่องน้อยลง เช่น การรักษาสุกรป่วย และการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคที่เกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่หรือในฟาร์มของเราเอง เพราะความเชื่อในเรื่องของการแพร่กระจายของเชื้อโรคดังกล่าวทางเข็มฉีดยา อย่างไรก็ดี เราสามารถลดความเสี่ยงเรื่องดังกล่าวและใช้ยาฉีดเพื่อการรักษาสุกรป่วยโดยการใช้เข็มแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในสุกรพันธุ์ หรือ ทำเครื่องหมายบนตัวสัตว์ที่มีการใช้เข็มร่วมกัน หรือการคัดแยกสุกรป่วยออกมารักษายังคอกป่วย อย่างเป็นระบบ
แน่นอนว่าการบริหารยาสำหรับสุกรนั้นมีได้หลากหลายวิธี เช่น การให้ยาผสมอาหาร ยาละลายน้ำ และยาฉีด ทำให้หลายคนเลือกนำวิธีดังกล่าวมาใช้ แต่ก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการใช้ยาฉีดเพื่อรักษาสุกรเป็นรายตัวเช่น สุกรแม่พันธุ์ นั้นให้ผลตอบสนองต่อการรักษาที่ดี และยังช่วยให้ลูกสุกร มีคุณภาพที่ดี เหมาะแก่การนำไปลงเลี้ยงต่อไป
ยาฉีดที่ใช้ในฟาร์มสุกร มีการให้ได้หลายวิธี กรณีที่หวังผลให้ออกฤทธิ์ทั่วร่างกายมักให้โดยการฉีด
- เข้าหลอดเลือดดำ (intravenous injection)
- การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (intramuscular injection)
- การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous injection)
ยาฉีดที่ดีต้องปราศจากเชื้อ ในกรณีที่เป็นยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำต้องเป็นสารละลายใสและปราศจากอนุภาคใดๆ และต้องใช้เทคนิคปลอดเชื้อ (aseptic technique) ในการทำงานซึ่งอาจทำให้เกิดความยากในการปฏิบัติ ทำให้ส่วนใหญ่ในสุกรเราจะใช้การฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนังเป็นหลัก ยาที่ฉีดจะกระจายไปส่วนต่างๆ ของร่างกายและไปยังตำแหน่งที่ออกฤทธิ์ได้ตัวยาออกฤทธิ์จะต้องอยู่ในกระแสเลือดการฉีดเข้ากล้ามเนื้อและการฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังยาจะใช้เวลาในการดูดซึมจากตำแหน่งที่ฉีดเพื่อเข้ากระแสเลือด จึงไม่ได้ออกฤทธิ์โดยทันที และยาบางชนิดจะใช้สื่อที่ทำให้ยามีการปลดปล่อยจากตำแหน่งที่ฉีดอย่างช้าๆ ทำให้ยามีการออกฤทธิ์ที่นานมากขึ้น (Long acting : LA)
อย่างไรก็ดีข้อด้อยที่พบได้บ่อยในการใช้ยาฉีด คือ ตำแหน่งที่ฉีด อาจพบปัญหาฝีหนอง หรือ เนื้อเยื่ออักเสบตาย ได้หากการดูแลความสะอาดหรือการจัดการยาฉีดไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ฟาร์มจึงควรพึงระวังในเรื่องความสะอาดของเข็ม พื้นผิวที่ฉีด และ คอก เมื่อมีการใช้ยาฉีด
การบริหารยาฉีดต้องทำอย่างสมเหตุสมผล โดยการใช้ยาจะต้องถูกต้องกับโรคหรือเชื้อก่อโรคที่ต้องการกำจัด และ ต้องให้ในขนาดที่เหมาะสม ความถี่ของการให้ และ ระยะเวลาที่เหมาะสมตามคำแนะนำข้างฉลาก หรือ สัตวแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพสัตว์ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยา ซึ่งกระทบต่อผู้บริโภค
เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นขอยกตัวอย่าง กลุ่มอาการที่พบ และ แนวทางการรักษาโดยการใช้ยาฉีด ดังตารางด้านล่าง
ขนาดของยาที่สัตว์ได้รับมีผลทางตรงต่อผลของการรักษา และในท้องตลาดยาฉีดที่มีจำหน่ายก็มีความเข้มข้นแตกต่างกันทำให้ผู้ใช้ต้องอ่านฉลากยา หรือ เอกสารกำกับยาก่อนการใช้ยาฉีดทุกครั้ง รวมทั้งการประเมินน้ำหนักของสุกรที่จะทำการรักษา จะต้องเหมาะสมและใกล้เคียง ไม่น้อยหรือมากจนเกินไป เพราะจะมีผลต่อขนาดยาที่จะให้ หากเป็นไปได้ควรมีการสุ่มชั่งน้ำหนักสุกรในฝูงเป็นระยะเพื่อประเมินน้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับการให้ยาแต่ละช่วงอายุ
ปริมาณการใช้ยาฉีดมีผลต่อต้นทุนในการรักษา ทำให้เกษตรกรหลายท่านจะคำนึงถึงราคาเมื่อททำการเลื้อกซื้อยามาใช้ในฟาร์ม อย่างไรก็ตาม ควรเลือกใช้ยาที่มีทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย รับรองโดยองค์การอาหารและยา อาจจะเป็นยาที่ผลิตในประเทศซึ่งจะมีราคาจำหน่ายในท้องตลาดต่ำกว่ายาที่นำเข้าขณะที่ความเข้มข้นของยาเท่ากัน การใช้ยาเถื่อนที่ไม่ได้รับการรับรองอาจส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลและยังผิดกฎหมายอีกด้วย
การให้ยาฉีดในสุกรเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพสุกรที่ได้ผลดี และยังลดปัญหาของเชื้อดื้อยาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น เรามาใช้ยาฉีดเพื่อดูแลสุขภาพสุกรกันเถอะ